แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยกู้เงินโจทก์และลงลายมือชื่อในสัญญากู้โดยยังไม่ได้กรอกข้อความ สามีโจทก์กรอกข้อความและจำนวนเงินขึ้นเองภายหลังมากกว่าจำนวนที่กู้จริงโดยจำเลยไม่ได้รู้เห็นยินยอม สัญญากู้จึงเป็นสัญญากู้ปลอม ถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องบังคับจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 27,200 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ครบกำหนดแล้ว จำเลยไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 39,270 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยยืมเงินโจทก์เพียง 25,000 บาท โดยลงลายมือชื่อใน (แบบพิมพ์) สัญญากู้ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเท่านั้นจำเลยได้ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่คืนสัญญากู้ให้แก่จำเลย โดยอ้างว่าหายโจทก์กรอกข้อความในสัญญากู้ขึ้นเองโดยจำเลยไม่รู้เห็นยินยอม จึงเป็นสัญญากู้ปลอม โจทก์จึงไม่อาจแสวงประโยชน์จากเอกสารดังกล่าวได้ และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 37,125 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน27,000 บาท (ที่ถูกควรเป็น 27,200) นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์เบิกความเป็นพยานประกอบสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ลอย ๆ ว่า จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 27,200 บาท สามีโจทก์เป็นผู้เขียนสัญญากู้ เขียนเสร็จแล้วจึงให้จำเลยลงลายมือชื่อแต่โจทก์หาได้นำสืบสามีโจทก์เพื่อสนับสนุนข้อนำสืบของโจทก์ไม่ จำเลยนำสืบว่าจำเลยกู้เงินโจทก์เพียงจำนวน 25,000 บาท และลงลายมือชื่อไว้ใน (แบบพิมพ์) สัญญากู้โดยไม่ได้กรอกข้อความ ข้อนำสืบของจำเลยมีเหตุผลสนับสนุนคือจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้โดยเขียนนามสกุลผิดพลาดเป็นรักกสิกรรณ์ที่ถูกคือรักกสิการณ์ สามีโจทก์ผู้กรอกสัญญากู้ในภายหลัง จึงได้กรอกนามสกุลจำเลยในสัญญากู้โดยลอกตามที่จำเลยเขียนผิดพลาดนั้นหากสามีโจทก์เขียนสัญญากู้เสร็จก่อนให้จำเลยลงลายมือชื่อ สามีโจทก์ย่อมจะเขียนนามสกุลของจำเลยได้ถูกต้องตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่จำเลยมอบแก่โจทก์ยึดถือ นอกจากนี้สีหมึกที่จำเลยลงลายมือชื่อและสีหมึกที่กรอกข้อความในสัญญากู้ก็แตกต่างกันโดยสีหมึกที่จำเลยลงลายมือชื่อนั้นเข้มกว่า และจำเลยยังมีนายวิชัยเบิกความยืนยันว่า ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 40,000 บาท ในวันที่19 กรกฎาคม 2531 อันเป็นวันจดทะเบียนรับโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ล.1 จากจำเลยนั้นด้วย คำนวณแล้วเป็นต้นเงินจำนวน 25,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2527 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2531 เป็นค่าดอกเบี้ยประมาณ 14,650 บาท รวมแล้วเท่ากับจำเลยชำระเงินให้โจทก์เกินไปเพียง 350 บาท นับได้ว่าเป็นจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการที่จำเลยผิดนัดชำระเงินกู้คืนแก่โจทก์นานเกือบ 4 ปีแล้วมีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะชำระเกินแก่โจทก์ในจำนวนดังกล่าวได้ไม่เป็นข้อพิรุธอันใด หลังจากโจทก์มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่จำเลยไปจดทะเบียนโอนขายแก่นายวิชัยดังกล่าวแล้ว หากโจทก์ไม่ได้รับชำระเงินจากจำเลยในวันที่ 19 กรกฎาคม 2531 โจทก์ก็น่าจะได้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยที่หลอกลวงเอาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปนั้น แต่โจทก์หาได้ทำเช่นนั้นไม่ การที่โจทก์ปล่อยเวลาล่วงเลยมาถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2533 จึงได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ย่อมมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์ได้รับเงินจากนายวิชัยจำนวน 40,000 บาทแล้วตามที่นายวิชัยและจำเลยเบิกความยืนยัน พยานหลักฐานจำเลยจึงสมจริงและมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าจำเลยกู้เงินโจทก์เพียงจำนวน 25,000 บาท และจำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.1 โดยยังไม่ได้กรอกข้อความ สามีโจทก์กรอกข้อความและจำนวนเงินขึ้นเองภายหลังโดยจำเลยไม่ได้รู้เห็นยินยอม สัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นสัญญากู้ปลอม โจทก์จะนำมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้หาได้ไม่ ถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องบังคับจำเลยได้จึงต้องยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1313/2515 คดีระหว่างนายสอนบุราณ โจทก์ นายบุญ ชนะพันธ์ กับพวก จำเลย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์