แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยซึ่ง เป็นนายจ้างให้โจทก์ซึ่ง เป็นลูกจ้างนำบุตรเข้ามาเรียนในโรงเรียนของจำเลยโดย ไม่เก็บค่าเล่าเรียน เป็นเพียงการให้สวัสดิการแก่โจทก์ ไม่ใช่เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานเช่นเดียว กับค่าจ้าง จึงไม่เป็นค่าจ้างที่จำเลยจะนำมารวมคำนวณเป็นค่าจ้างจ่ายให้แก่โจทก์ตาม กฎหมายว่าด้วยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ต่อมาได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างส่วนที่ขาดค่าชดเชย กับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอันเป็นกรณีร้ายแรง ทั้งได้จัดอาหารกลางวันกับให้โจทก์นำบุตรมาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยโดยไม่เสียค่าเล่าเรียนอันถือว่าเป็นการจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าจำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์นำบุตรมาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยโดยจำเลยไม่ได้เก็บเงินค่าเล่าเรียน ซึ่งคิดเป็นเงินปีละ 1,200 บาท มิใช่เป็นการให้เปล่าหรือเป็นสวัสดิการที่จำเลยให้แก่โจทก์ แต่ถือว่าเป็นค่าจ้างที่จ่ายให้โจทก์ในรูปของค่าเล่าเรียนสำหรับบุตรโจทก์ เมื่อรวมกับค่าจ้างที่โจทก์ได้รับไปจากจำเลยตามบัญชีค่าจ้างท้ายฟ้องแล้วจะเห็นได้ว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ พิเคราะห์แล้ว ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ได้ให้ความหมายของคำว่า”ค่าจ้าง” ไว้ว่า เงิน หรือเงินและสิ่งของ ที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และหมายความรวมถึงเงิน หรือเงิน และสิ่งของ ที่จ่ายให้ในวันหยุด ซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานและในวันลาด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไร และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า จำเลยประกอบกิจการโรงเรียนราษฎร์ โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ทำหน้าที่เป็นครู โจทก์นำบุตรเข้ามาเรียนที่โรงเรียนของจำเลย ตั้งแต่ปีการศึกษา2528 จนถึงปัจจุบัน โดยจำเลยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ซึ่งคิดเป็นเงินปีละ 1,200 บาท และไม่ปรากฏว่าครูที่มิได้นำบุตรมาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยได้รับค่าจ้างสูงกว่าครูที่นำบุตรมาเรียนที่โรงเรียนของจำเลย ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2530 ถึงวันที่14 มีนาคม 2533 จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามบัญชีจ่ายค่าจ้างท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด จากข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เพิ่งนำบุตรเข้ามาเรียนในโรงเรียนของจำเลยในปีการศึกษา 2528การที่จำเลยไม่เก็บค่าเล่าเรียนของบุตรโจทก์ ซึ่งคิดเป็นเงินปีละ1,200 บาท ก็เป็นไปเพียงชั่วระยะเวลาที่บุตรโจทก์ยังเล่าเรียนอยู่ในดรงเรียนของจำเลยเท่านั้น มิใช่ตลอดเวลาที่โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย ทั้งไม่ปรากฏว่าครูที่มิได้นำบุตรมาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยได้รับค่าจ้างสูงกว่าครูที่นำบุตรเข้ามาเรียนในโรงเรียนของจำเลย แสดงว่าการที่จำเลยไม่เก็บค่าเล่าเรียนของบุตรโจทก์เป็นการให้โจทก์ได้รับประโยชน์ อันเป็นการให้สวัสดิการแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างทำหน้าที่เป็นครูในโรงเรียนของจำเลย เห็นได้ว่าประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากการที่จำเลยไม่ได้เก็บค่าเล่าเรียนของบุตรโจทก์ มิใช่เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนเพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานเช่นเดียวกับค่าจ้าง จึงมิใช่เป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ไม่อาจจะนำมารวมคำนวณเป็นค่าจ้างที่จ่ายให้โจทก์ได้ การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างตามบัญชีค่าจ้างท้ายฟ้องจึงเป็นการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างส่วนที่จำเลยไม่จ่ายตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้แก่โจทก์ตามฟ้องชอบแล้ว
พิพากษายืน.