แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ จะนำสืบการใช้เงินต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคสอง การที่จำเลยโอนเงินทางโทรเลขเข้าบัญชีของโจทก์ไม่เข้าบทบัญญัติดังกล่าว แต่เป็นการชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ได้ยอมรับแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ได้ชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นแล้ว โดยฝากเข้าในบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์คืนหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินที่ยึดไว้แก่จำเลย
โจทก์ให้การฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยได้รับชำระหนี้รายที่ฟ้องจากจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์คืนหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินแก่จำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยโดยตลอดแล้วคู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบข้อเท็จจริงรับกันฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2523 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไปจำนวน 200,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี กำหนดชำระเงินต้นคืนภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2525 ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม 2524 จำเลยได้โอนเงินทางโทรเลขเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันธนาคารกสิกรไทยสาขาบางโพ บัญชีเลขที่ 133 10-0738 2 ของโจทก์เป็นจำนวนเงิน180,000 บาท ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายใบรับโอนเงินทางโทรเลขเอกสารหมาย ล.1 และสำเนาภาพถ่ายการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย ล.2 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ จำเลยอ้างตนเองเบิกความว่าจำเลยได้ชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์แล้วเป็นเงิน 180,000 บาทโดยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์เลขที่ 0837(ที่ถูกบัญชีเลขที่ 0738-2) ซึ่งโจทก์เปิดบัญชีที่ธนาคารกสิกรไทยสาขาบางโพ กรุงเทพมหานคร การโอนเงินดังกล่าวธนาคารกสิกรไทยสาขาหนองประทีป ได้ออกหลักฐานการโอนเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายใบรับโอนเงินทางโทรเลข เอกสารหมาย ล.1จำนวนเงินที่จำเลยโอนเข้าบัญชีโจทก์เรียบร้อยแล้วตามสำเนาภาพถ่ายการ์ดบัญชีกระแสรายวันของธนาคารกสิกรไทย สาขาบางโพเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 2 ซึ่งกาดอกจันไว้ นางประพิศ เด่นประพัฒน์สมุห์บัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาหนองประทีป จังหวัดเชียงใหม่พยานจำเลยอีกปากหนึ่งเบิกความว่า จำเลยได้โอนจำนวน 180,000 บาทของจำเลยไปยังธนาคารกสิกรไทย สาขาบางโพ กรุงเทพมหานครเพื่อเข้าบัญชีโจทก์ตามสำเนาภาพถ่ายใบรับโอนเงินทางโทรเลขเอกสารหมาย ล.1 และธนาคารกสิกรไทย สาขาบางโพ ได้รับโอนเงินดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ เอกสารหมาย ล.2 (ตรงกาดอกจันสีน้ำเงิน)การโอนเงินของจำเลยเป็นการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่พยานไม่ทราบ โจทก์อ้างตนเองเบิกความว่า จำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์ไปหลายครั้ง จำนวนเงิน 180,000 บาท ที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์นั้นเป็นการชำระหนี้เงินกู้รายอื่นไม่เกี่ยวกับหนี้ตามฟ้องจำนวนเงินที่จำเลยโอนเข้าบัญชีธนาคารของโจทก์เพื่อชำระหนี้จำนวน 180,000 บาท นั้น เป็นจำนวนมากตามที่กาเครื่องหมายดอกจันไว้ ตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เอกสารหมาย ล.2ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปจำนวน 20,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.3 จำเลยจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นไว้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคสอง การที่จำเลยโอนเงินทางโทรเลขเข้าบัญชีของโจทก์ตามสำเนาภาพถ่ายใบรับโอนเงินทางโทรเลขไม่เข้าบทบัญญัติดังกล่าว แต่เป็นการชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ได้ยอมรับแล้ว โจทก์อ้างแต่เพียงว่าจำเลยชำระหนี้เงินกู้รายอื่นไม่เกี่ยวกับหนี้ตามฟ้อง โดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นชัดแจ้งว่าหนี้รายอื่นนั้นเป็นหนี้รายใดถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ ข้อกล่าวอ้างของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้โอนเงินทางโทรเลขเข้าบัญชีของโจทก์จำนวน180,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ตามฟ้องซึ่งเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดแล้ว ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยเบิกความว่า จำเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์จำนวน 140,000 บาท โดยโจทก์หักจำนวนเงิน 60,000 บาท เป็นค่าดอกเบี้ยเวลา 2 ปี การหักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าเช่นนี้เป็นประเพณีการกู้เงิน เหตุที่จำเลยชำระเงินเพียง 180,000 บาทนั้นเพราะจำเลยได้ชำระเงินคืนแก่โจทก์ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญากู้ โจทก์ต้องคืนดอกเบี้ยที่หักไว้ล่วงหน้าจำนวน20,000 บาท คืนแก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ยอมคืนให้ จำเลยจึงนำดอกเบี้ยล่วงหน้า 20,000 บาท ดังกล่าวมาหักออกจากต้นเงินกู้ไป200,000 บาทเสีย ส่วนโจทก์เบิกความว่า จำเลยกู้เงินไป200,000 บาท และจำเลยได้รับเงินไปครบถ้วนแล้วตามสัญญากู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งศาลเห็นว่าตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว ข้อ 1 มีข้อความระบุชัดเจนว่า จำเลยผู้กู้ได้รับเงินจำนวน 200,000 บาทไปแล้วในวันทำสัญญา ที่จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความลอย ๆ ว่า ได้รับเงินไปเพียง 140,000 บาทจึงไม่น่าเชื่อ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 200,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารหมาย จ.3 และจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์เพียง 180,000 บาท หักใช้ดอกเบี้ยจำนวน 102,500 บาท คงเหลือชำระต้นเงินจำนวน 77,500 บาท จำเลยต้องชำระต้นเงินจำนวน12,500 บาท แก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์บางส่วน ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 122,500 บาทแก่โจทก์กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”