คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาที่ว่าเจ้าพนักงานของรัฐมีอำนาจกระทำการประเมินภาษีโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
โจทก์ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับระหว่างที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 99 (พ.ศ. 2497) และ 112 (พ.ศ. 2500) ใช้บังคับซึ่งเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้เพียงคนเดียวมีอำนาจพิจารณารายการที่ยื่นเพื่อประเมินภาษีเงินได้ ในระหว่างการพิจารณาของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าว มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 119 (พ.ศ. 2502) ออกใช้บังคับ กำหนดให้บุคคลสามฝ่ายเป็นเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ แต่กฎกระทรวงฉบับนี้มิได้กล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินตามกฎกระทรวงฉบับก่อนไว้อย่างใด ดังนั้น ย่อมไม่เป็นเหตุให้อำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับการพิจารณารายการเงินได้พึงประเมินที่ได้ยื่นไว้ก่อนมีกฎกระทรวงฉบับใหม่ใช้บังคับ ต้องยกเลิกเปลี่ยนแปลงไปเจ้าพนักงานประเมินนั้นยังมีอำนาจที่จะประเมินภาษีเงินได้แจ้งจำนวนค่าภาษีที่ต้องชำระไปยังผู้รับประเมินได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ประเมินภาษีเงินได้โจทก์และมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๐๙ ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้สำหรับปี พ.ศ. ๒๔๙๙ถึง พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นเงิน ๓๕,๓๓๓.๙๙ บาท โจทก์เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงอุทธรณ์ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วมีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้เป็นเงิน ๓๓,๕๑๒ บาท ซึ่งโจทก์ไม่เห็นด้วยขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำชี้ขาดของจำเลยที่ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้และพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ดังกล่าว
จำเลยที่ ๒ ถึงแก่กรรม โจทก์ถอนฟ้อง ศาลอนุญาต
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ ให้การว่า คำสั่งประเมินภาษีและคำสั่งประเมินภาษีและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่า การประเมินภาษีของจำเลยที่ ๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและว่ามีกฎกระทรวงบังคับไว้ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ ให้การประเมินภาษีเงินได้ทำในนามบุคคลสามฝ่าย จำเลยที่ ๒ ผู้เดียวไม่มีอำนาจประเมิน
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ ๒ ผู้เดียวไม่มีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นั้น แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย การประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์มิได้กระทำโดยคณะบุคคลสามฝ่าย จึงต้องถือว่ากระทำไปโดยผู้ไม่มีอำนาจประเมินการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ไม่มีผล จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป พิพากษากลับให้เพิกถอนคำสั่งและคำชี้ขาด ที่จำเลยให้โจทก์เสียภาษีเงินได้
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่าเจ้าพนักงานของรัฐมีอำนาจกระทำการประเมินภาษีโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เป็น ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่วนการประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์นั้นเห็นว่า เดิมมีกฎกระทรวงฉบับที่ ๙๙ (พ.ศ. ๒๔๙๗) และ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๕๐๐) กำหนดให้เจ้าพนักงานตำแหน่งต่าง ๆ แต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ประเมินภาษีเงินได้ ต่อมามีกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๕๐๒)ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ กำหนดให้คณะบุคคลสามฝ่ายเป็นเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ โจทก์ได้ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๑ ในเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปีซึ่งอยู่ในระหว่างกฎกระทรวงฉบับที่ ๙๙ (พ.ศ. ๒๔๙๗) และ ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๕๐๐)ใช้บังคับ ฉะนั้น นับแต่เวลาที่โจทก์ยื่นรายการดังกล่าว จึงตกเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้เพียงคนเดียวจะพิจารณารายการที่ยื่นเพื่อประเมินภาษีเงินได้ เมื่อมีกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๕๐๒) ออกใช้บังคับในระหว่างการพิจารณาของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าว โดยกำหนดให้บุคคลสามฝ่ายเป็นเจ้าพนักงานประเมิน แต่กฎกระทรวงฉบับนี้มิได้กล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินตามกฎกระทรวงฉบับก่อนทั้งสองฉบับไว้อย่างใด ดังนี้ ย่อมไม่เป็นเหตุให้อำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับการพิจารณารายการเงินได้พึงประเมินที่ได้ยื่นไว้ก่อนมีกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๕๐๒) ใช้บังคับต้องยกเลิกเปลี่ยนแปลงไปเจ้าพนักงานประเมินยังมีอำนาจที่จะประเมินภาษีเงินได้และแจ้งจำนวนค่าภาษีที่ต้องชำระไปยังผู้รับประเมินได้การประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์และการที่เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้ไปยังโจทก์นั้นมีผลบังคับใช้ได้ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่เสียไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาใหม่ในประเด็นข้ออื่นต่อไป

Share