คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 296-297/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ว. กรรมการผู้มีอำนาจอีกคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 เคยมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ระงับการชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันไว้ก่อนโดยระบุว่าคดีได้ขึ้นสู่ศาลแล้วซึ่งเป็นหนังสือลงวันที่ 2 เมษายน 2546 ดังนั้น ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ว่าเพิ่งทราบเรื่องที่ถูกโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2546 จึงรับฟังไม่ได้ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่าถูกโจทก์ฟ้อง อย่างช้าที่สุดก็ในวันที่ 2 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่ ว. ทำหนังสือไปถึงจำเลยที่ 2 และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยังมีเวลาอีกหลายวันพอแก่การจัดทำคำให้การเพื่อยื่นต่อศาลได้ เนื่องจากวันที่ 12 เมษายน 2546 ซึ่งครบกำหนดยื่นคำให้การเป็นวันเสาร์ ต่อจากนั้นเป็นวันหยุดตรุษสงกรานต์ซึ่งศาลหยุดทำการ แต่จำเลยที่ 1 ก็หาได้จัดทำคำให้การมายื่นต่อศาลในวันแรกที่ศาลเปิดทำการไม่ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2546 ซึ่งล่วงพ้นกำหนดยื่นคำให้การไปแล้วหลายวัน จำเลยที่ 1 จึงได้ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยอ้างเหตุซึ่งไม่เป็นความจริง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยที่ 1 มิได้สนใจเกี่ยวกับการที่ถูกโจทก์ฟ้องและไม่เอาใจใส่ที่จะดำเนินการต่อสู้คดี ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การโดยไม่จงใจหรือมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การได้
สัญญาค้ำประกันข้อ 2 ระบุว่า จำเลยที่ 2 รับรองว่าขณะใดที่ได้รับหนังสือแจ้งความจากโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาและไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ยอมชำระเงินแทนภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งความดังกล่าวแต่โจทก์จะต้องแจ้งเหตุแห่งการปฏิบัติผิดสัญญาให้จำเลยที่ 2 ทราบภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่เหตุการณ์นั้น ๆ ได้เกิดขึ้น ข้อความดังกล่าวเป็นการค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยไม่มีเงื่อนไข แม้ข้อความตอนท้ายระบุให้โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบภายในกำหนด 15 วัน ก็เป็นเพียงกำหนดเวลาที่จะต้องแจ้งให้ผู้ค้ำประกันรู้ตัวว่าจะต้องรับผิดเท่านั้น หาใช่เงื่อนไขจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันแต่อย่างใดไม่เพราะข้อความในสัญญาข้อ 2 ดังกล่าวมิได้ระบุไว้เช่นนั้นโดยชัดแจ้ง การที่โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญา จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 2,981,827.15 บาท โดยจำเลยที่ 2 รับผิดในวงเงินไม่เกิน 670,890 บาท และให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,981,827.15 บาท โดยจำเลยที่ 2 รับผิดชำระดอกเบี้ยของค่าเสียหายในวงเงินไม่เกิน 670,890 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ก่อนครบกำหนดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ อ้างว่าเพิ่งทราบว่าถูกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง และจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญา และได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ระงับการจ่ายเงินแก่โจทก์ตามหนังสือค้ำประกัน กรณียังไม่ทราบแน่ชัดว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจชำระเงินให้แก่โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน เนื่องจากโจทก์มิได้แจ้งความชำรุดบกพร่องภายใน 15 วัน ตามข้อตกลงในหนังสือค้ำประกัน และไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบความชำรุดบกพร่องเมื่อใด โจทก์คำนวณค่าเสียหายจากเนื้องานได้อย่างไรฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนเริ่มสืบพยาน จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ อ้างว่ามิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์คัดค้าน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องค่าคำร้องให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 2,350,426.64 บาท ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 2 รับผิดไม่เกิน 670,890 บาท และให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,350,426.64 บาท จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 670,890 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 มีนาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การ โดยให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การแก้คดีเข้ามาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ใหม่ และพิพากษาใหม่ตามรูปคดีสำหรับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ ยกอุทธรณ์โจทก์และจำเลยที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ค่าทนายความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่ และมีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การหรือไม่ ข้อเท็จจริงในสำนวนคดีปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยมีผู้ลงชื่อรับไว้แทนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2546 ต่อมาในวันที่ 11 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันก่อนครบกำหนดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การออกไปอีก 30 วัน อ้างว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างซึ่งเป็นผู้ลงชื่อรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้แทนเพิ่งส่งมอบหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตามลำดับสายงานถึงจำเลยที่ 1 เมื่อใกล้ครบกำหนดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 1 ไม่อาจจัดทำคำให้การยื่นต่อศาลได้ทัน เพราะมีข้อเท็จจริงและพยานที่จะต้องตรวจสอบจำนวนมาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันกับที่ยื่นคำร้องว่า เหตุตามคำร้องมิใช่พฤติการณ์พิเศษที่จะขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การได้จึงให้ยกคำร้อง ต่อมาวันที่ 24 เมษายน 2546 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยอ้างเหตุเช่นเดียวกันกับที่ขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ และอ้างว่าเพิ่งทราบเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2546 ว่าถูกโจทก์ฟ้อง เห็นว่า ในชั้นไต่สวนคำร้องนายชาญชัย กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 เบิกความรับข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ค.2 ซึ่งทนายโจทก์นำมาถามค้านว่า นางวณีกรรมการผู้มีอำนาจอีกคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 เคยมีหนังสือตามเอกสารดังกล่าวแจ้งให้จำเลยที่ 2 ระงับการชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันไว้ก่อนโดยระบุว่าคดีได้ขึ้นสู่ศาลแล้วซึ่งปรากฏตามเอกสารดังกล่าวว่าเป็นหนังสือลงวันที่ 2 เมษายน 2546 ดังนั้นข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ว่าเพิ่งทราบเรื่องที่ถูกโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2546 จึงรับฟังไม่ได้ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่าถูกโจทก์ฟ้อง อย่างช้าที่สุดก็ในวันที่ 2 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่นางวณีทำหนังสือไปถึงจำเลยที่ 2 และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยังมีเวลาอีกหลายวันพอแก่การจัดทำคำให้การเพื่อยื่นต่อศาลได้ เนื่องจากวันที่ 12 เมษายน 2546 ซึ่งครบกำหนดยื่นคำให้การเป็นวันเสาร์ ต่อจากนั้นเป็นวันหยุดตรุษสงกรานต์ซึ่งศาลหยุดทำการ แต่จำเลยที่ 1 ก็หาได้จัดทำคำให้การมายื่นต่อศาลในวันแรกที่ศาลเปิดทำการไม่ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2546 ซึ่งล่วงพ้นกำหนดยื่นคำให้การไปแล้วหลายวัน จำเลยที่ 1 จึงได้ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยอ้างเหตุซึ่งไม่เป็นความจริง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้สนใจเกี่ยวกับการที่ถูกโจทก์ฟ้องและไม่เอาใจใส่ที่จะดำเนินการต่อสู้คดีถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การโดยไม่จงใจหรือมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และโจทก์ ซึ่งอุทธรณ์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดคำพลกิจก่อสร้างทำการก่อสร้างอาคารดังกล่าวต่อไปจนเสร็จ และชำระค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดคำพลกิจก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้วตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารและบัญชีค่างานแนบท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.15 หนังสือขอเบิกเงินค่าจ้างและใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.17 ในปัญหาที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบ เพราะมิได้วินิจฉัยให้เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายและที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า โจทก์นำสืบลอยๆ จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญานั้น เห็นว่า โจทก์นำสืบว่า เหตุที่โจทก์ไม่รับมอบงานฐานราก 37 ฐาน และตอม่อ 37 ต้น เนื่องจากคอนกรีตที่ทำฐานรากและตอม่อดังกล่าวมีความต้านทานแรงอันต่ำกว่าที่กำหนดในรายการประกอบแบบ โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขงานดังกล่าว จำเลยที่ 1 กลับขนย้ายคนงานและเครื่องมือออกจากสถานที่ก่อสร้างอันเป็นการละทิ้งงานโจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยในทางนำสืบนอกจากโจทก์มีนายนิวรณ์กรรมการผู้จัดการของโจทก์ และนายสมบูรณ์วิศวกรผู้ควบคุมงานเบิกความเป็นพยานแล้ว โจทก์ยังมีนายวรพจน์วิศวกรกองวิเคราะห์และวิจัย สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ผู้ทดสอบความต้านทานแรงอัดของคอนกรีตเป็นพยานเบิกความยืนยันตามรายงานผลการทดสอบเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 3 และ จ.10 แผ่นที่ 3 ด้วย ซึ่งจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น แม้จำเลยที่ 2 ได้อ้างนายชาญชัยกรรมการของจำเลยที่ 1 มานำสืบเป็นพยาน แต่นายชาญชัยก็เบิกความเป็นทำนองว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญาต่อกันแล้วซึ่งเป็นเรื่องนอกประเด็นเท่านั้น ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ประพฤติผิดสัญญา เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและจ้างผู้รับจ้างรายใหม่เข้าทำงานให้ลุล่วงไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 5 เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ไม่แก้ไขงานและทิ้งงานซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่างานจะแล้วเสร็จล่าช้าเกินกว่ากำหนดเวลา การที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบและวินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงเท่ากับได้วินิจฉัยแล้วว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ที่จำเลยที่ 1 อ้างต่อไปว่า สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเอกสารหมาย จ.5 คงมีแต่นายนิวรณ์ลงลายมือชื่อโดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ จึงผูกพันนายนิวรณ์เป็นส่วนตัว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า สัญญาดังกล่าวมีข้อความระบุชัดแจ้งว่าโจทก์โดยนายนิวรณ์เป็นผู้ทำสัญญาฝ่ายผู้ว่าจ้าง แสดงว่านายนิวรณ์ทำสัญญาในนามของโจทก์ แม้จะมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ตามข้อบังคับแต่เมื่อโจทก์ยอมรับงานบางส่วนที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของนายนิวรณ์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ สำหรับปัญหาที่ว่า โจทก์มิได้ส่งสำเนาหนังสือขอเบิกเงินค่าจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดคำพลกิจก่อสร้างและใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย จ.17 บางฉบับให้จำเลยที่ 1 ก่อนวันสืบพยาน ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้คัดค้านไว้แล้ว จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่นั้น เห็นว่า พยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี แม้โจทก์มิได้ส่งสำเนาให้จำเลยที่ 1 ก่อนวันสืบพยาน แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลก็มีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) การที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานเอกสารดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแล้วนั้น เห็นว่า สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 ระบุว่า จำเลยที่ 2 รับรองว่าขณะใดที่ได้รับหนังสือแจ้งความจากโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาและไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ยอมชำระเงินแทนภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งความดังกล่าว แต่โจทก์จะต้องแจ้งเหตุแห่งการปฏิบัติผิดสัญญาให้จำเลยที่ 2 ทราบภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่เหตุการณ์นั้น ๆ ได้เกิดขึ้น ข้อความดังกล่าวเป็นการค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยไม่มีเงื่อนไข แม้ข้อความตอนท้ายระบุให้โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบภายในกำหนด 15 วัน ก็เป็นเพียงกำหนดเวลาที่จะต้องแจ้งให้ผู้ค้ำประกันรู้ตัวว่าจะต้องรับผิดเท่านั้น หาใช่เงื่อนไขจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันแต่อย่างใดไม่ เพราะข้อความในสัญญาข้อ 2 ดังกล่าวมิได้ระบุไว้เช่นนั้นโดยชัดแจ้งการที่โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญา จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด
สำหรับปัญหาตามข้ออ้างของโจทก์เกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิรับเงินค่าจ้างในส่วนที่โจทก์รับมอบงานแล้วเป็นเงิน 476,390.75 บาท และได้ความตามหนังสือขอเบิกเงินค่าจ้างและใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.17 ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดคำพลกิจก่อสร้างซึ่งเข้ารับจ้างทำงานก่อสร้างอาคารต่อจากจำเลยที่ 1 จนเสร็จได้ขอเบิกเงินค่าจ้างจากโจทก์ 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 15,207,914.65 บาท แต่ตามใบเสร็จรับเงินมียอดเงินรวมทั้งหมดเกินกว่าจำนวนที่ขอเบิกดังกล่าวไปเป็นเงิน 631,400.51 บาท เงินจำนวนที่เกินอยู่นี้นายนิวรณ์กรรมการผู้จัดการของโจทก์เบิกความว่า เป็นเงินค่าจ้างที่โจทก์ให้ห้างหุ้นส่าวนจำกัดคำพลกิจก่อสร้างทำงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาซึ่งเห็นได้ว่าโจทก์มิได้เรียกร้องเงินในส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นนำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักออกจากจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์จึงไม่ชอบ เมื่อโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างก่อสร้างอาคารที่จำเลยที่ 1 ยังทำไม่เสร็จเพิ่มขึ้นอีก 3,458,217.90 บาท แต่จำเลยที่ 1 มีสิทธิรับเงินค่างานจากโจทก์ 476,390.75 บาท หักกันแล้วจำเลยที่ 1 จึงต้องใช้เงิน 2,981,827.15 บาท เป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 15
อนึ่ง ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 มิได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,981,827.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนในวงเงิน 670,890 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 2 ร่วมใช้แทนในทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 แพ้คดี

Share