คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2952/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยบอกแก่พนักงานขายของบริษัทผู้เสียหายว่าเป็นผู้จัดการห้าง ท. ขอสั่งซื้อเบียร์และว่าจะออกเช็คให้ใช้เงินภายใน 1 เดือน พนักงานขายนำเบียร์ไปส่งให้ จำเลยเป็นผู้รับของและหยิบเช็คซึ่งมีลายมือชื่อของ ส. (ผู้สั่งจ่าย) อยู่ก่อนแล้ว มาลงวันที่กรอกข้อความและประทับตราของห้าง ท. แล้วมอบอำนาจให้พนักงานขาย โดยมอบเช็คให้ในห้องผู้จัดการ ฟังได้ว่า จำเลยร่วม ส.ออกเช็คให้บริษัทผู้เสียหาย เมื่อบริษัทผู้เสียหายนำเช็คไปเบิกเงินไม่ได้ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะบัญชีเงินฝากของห้าง ท.ที่ธนาคารหนึ่งปิดแล้ว และอีกธนาคารหนึ่งเงินในบัญชีเงินฝากของห้าง ท.มีไม่พอ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยและนายสาโรจน์ ชิ้มเจริญ หรือ บุ้นอั้ว แซ่ซิ้ม ซึ่งหลบหนีอยู่ ได้บังอาจร่วมกันออกเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาราชดำเนิน และเช็คธนาคารไทยพัฒนา จำกัด สาขาเสาชิงช้า สั่งจ่ายเงินจำนวน ๑๔,๙๕๐ บาท และ ๒๗,๒๐๐ บาท ตามลำดับ มอบให้บริษัทผู้เสียหาย เป็นการชำระหนี้ ค่าสินค้าเบียร์ที่จำเลยซื้อไป ผู้เสียหายนำเช็คทั้งสองฉบับไปเบิกเงิน ธนาคารทั้งสองแห่งต่างปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยธนาคารไทยพัฒนาจำกัด แจ้งว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด แจ้งว่าบัญชีปิดแล้ว ทั้งนี้โดยจำเลยกับพวกร่วมกันออกเช็คสั่งจ่ายเงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินของจำเลยที่มีอยู่ในธนาคารทั้งสองแห่ง และออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คทั้งสองฉบับนั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓
จำเลยให้การปฏิเสธว่า ไม่ได้กระทำความผิด
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ ให้จำคุก ๔ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า พนักงานขายของบริษัทผู้เสียหายได้ไปติดต่อขายเบียร์ที่ห้างไทยวานิช จำเลยบอกว่าเป็นผู้จัดการห้างไทยวานิช ขอสั่งซื้อเบียร์และจะออกเช็คให้ใช้เงินภายในกำหนด ๑ เดือน ต่อมาเมื่อพนักงานขายของบริษัทผู้เสียหายนำเบียร์ไปส่งตามที่จำเลยสั่งซื้อรวม ๒ ครั้ง แต่ละครั้งจำเลยเป็นผู้รับของและเป็นผู้หยิบเช็คขึ้นมากรอกวันที่ ข้อความ และประทับตราห้างไทยวานิชลงบนชื่อนายสาโรจน์ผู้สั่งจ่าย เสร็จแล้วมอบให้พนักงาน ขายของบริษัทผู้เสียหายในห้องกระจกเล็ก ๆ ซึ่งมีป้ายว่าผู้จัดการอยู่ชั้นล่างของห้างไทยวานิช พนักงานขายของบริษัทผู้เสียหายนำเช็คทั้งสองฉบับไปมอบให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้เสียหาย ต่อมาปรากฏว่าเช็คทั้งสองฉบับนั้นเบิกเงินไม่ได้ เพราะบัญชีเงินฝากของห้างไทยวานิชที่ธนาคารหนึ่งปิดแล้ว และอีกธนาคารหนึ่งเงินในบัญชีเงินฝากของห้างไทยวานิชมีไม่พอจ่ายเงินตามเช็ค
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่นำเช็คที่มีผู้ลงนามสั่งจ่ายอยู่แล้ว มากรอกวันที่ และข้อความ กับประทับตราห้างไทวานิชลงบนเช็คด้วยตนเอง และการซื้อขายรายนี้พนักงานขายของบริษัทผู้เสียหายติดต่อกับจำเลยแต่ผู้เดียวตลอดมา เชื่อได้ว่าจำเลยร่วมกับนายสาโรจน์ออกเช็คตามฟ้อง เมื่อผู้เสียหายไปรับเงินไม่ได้ เพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ก็ถือได้ว่าเป็นการออกเช็คโดยเจตนา ที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ (๑) แล้ว
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share