แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าอาวุธปืนดังกล่าวเป็นอาวุธปืนที่มีทะเบียนหรือไม่ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจก็มิได้ยึดอาวุธปืนดังกล่าวเป็นของกลาง กรณีจึงต้องฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยว่าอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีได้ตามกฎหมายอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,72 วรรคสามเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนลูกซองสั้น ไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ในความครอบครอง โดยไม่ได้รับใบอนุญาต พกพาอาวุธปืนดังกล่าวไปตามทางสาธารณะ และร่วมกับพวกอีกคนหนึ่งซึ่งหลบหนีไปชิงทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 339, 340 ตรี พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339, 340 ตรี กระทงหนึ่ง จำคุก 15 ปี พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ กระทงหนึ่ง จำคุก6 เดือน การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันจึงให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป รวมจำคุก 15 ปี 6 เดือน
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ลงโทษข้อหามีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ที่แก้ไขแล้วอีกกระทงหนึ่งแล้ว ให้จำคุก1 ปี รวมจำคุก 16 ปี 6 เดือน
จำเลยฎีกาเฉพาะข้อหามีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์มีนายสมพร อินทร์แพรง และนางกุหลาย สว่างสาลี ผู้เสียหายทั้งสองมาเบิกความว่า จำเลยใช้อาวุธปืนจี้ตนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาหมาย จ.6 จำเลยให้การว่าไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนมาก่อน จึงฟังได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนดังกล่าวไวในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างไรก็ตาม นายสมพรระบุเพียงว่าอาวุธปืนที่จำเลยครอบครองนั้นเป็นปืนลูกซองสั้นโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นเลยว่าอาวุธปืนดังกล่าวเป็นอาวุธปืนที่มีทะเบียน หรือไม่มีทะเบียนดังที่โจทก์ฟ้อง ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจก็มิได้ยึดอาวุธปืนดังกล่าวมาเป็นของกลาง จึงต้องฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยว่าอาวุธปืนที่จำเลยไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีได้ตามกฎหมายอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยไม่ได้ระบุวรรคจึงไม่ชัดเจน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ชัดเจนขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์