คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2947/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1และได้รับเงินอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คืนหลังจากจำเลยที่ 1จดทะเบียนเลิกบริษัทแต่จำเลยที่ 1 ชำระภาษีไม่ถูกต้อง โจทก์จึงขอใช้สิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ในนามของตนเองแทนจำเลยที่ 1 เพื่อป้องกันสิทธิของโจทก์ในมูลหนี้ภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 แม้ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาจะเป็นคดีแพ่ง แต่มิใช่คดีแพ่งที่พิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรที่ศาลภาษีอากรกลางจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ต่อศาลภาษีอากรกลาง ประมวลรัษฎากร มาตรา 27 วรรคสาม ให้คำนวณเงินเพิ่มได้แต่มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสีย เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 และได้รับเงินอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คืนหลังจากจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทเจ้าพนักงานของโจทก์ได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ 1ตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร อัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย และเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากรอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน และแจ้งการประเมินเรียกเก็บภาษีให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่นำเงินค่าภาษีอากรมาชำระขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม 448,954.74 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษี 326,616.50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 รับผิดไม่เกิน 396,800 บาท จำเลยที่ 2และที่ 4 ถึงที่ 8 รับผิดไม่เกินคนละ 99,200 บาท ตามจำนวนทรัพย์ที่รับคืนไปจากจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ให้การว่า จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 มิได้เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ไม่เคยรับเงินอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คืน หลังจากจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและบัญชีแบ่งคืนทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เป็นเอกสารปลอม มีผู้ปลอมลายมือชื่อของจำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ลงในบัญชีแบ่งคืนทรัพย์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม 448,954.74 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5ต่อเดือนของเงินภาษี 326,616.50 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 2ถึงที่ 8 นั้นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้ชำระบัญชีได้นำทรัพย์สินของบริษัทจำเลยที่ 1 มาแบ่งคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ผู้ถือหุ้น ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 ยังมีหนี้สินที่จะต้องชำระค่าภาษีให้แก่โจทก์ โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้ชำระบัญชีเพิกเฉยเสียไม่ใช่สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินพอจะชำระหนี้ค่าภาษีได้ทำให้โจทก์ต้องเสียประโยชน์โจทก์ขอเรียกร้องในนามตนเองแทนจำเลยที่ 1 กรณีตามคำฟ้องดังกล่าวข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ผู้ชำระบัญชีแบ่งคืนทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ผู้ถือหุ้นโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1269 เมื่อจำเลยที่ 1 เพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียประโยชน์ โจทก์จึงใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแม้จะเป็นคดีแพ่ง แต่มิใช่คดีแพ่งที่พิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรที่ศาลภาษี อากรกลางจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามมาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 เพราะเป็นเรื่องที่พิพาทกันว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 จะต้องคืนทรัพย์สินให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อที่โจทก์จะได้บังคับชำระหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระหรือไม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ต่อศาลภาษีอากรกลางส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 ผู้ชำระบัญชีฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1269 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ผู้ถือหุ้นจึงไม่มีสิทธิรับคืนเงินดังกล่าวไป เงินดังกล่าวยังเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อยู่ จึงเป็นการฟ้องเรียกหนี้ภาษีโดยตรงจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ผู้ครอบครองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้ค่าภาษีอากรของรัฐ ย่อมเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรนั้น เห็นว่า ข้อพิพาทของโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิใช่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม 448,954.74 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษี 326,616.50 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์เช่นนี้ อาจมีผลทำให้เงินเพิ่มที่คำนวณได้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสีย อันจะมีผลทำให้จำเลยที่ 1 รับผิดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เพราะประมวลรัษฎากรมาตรา 27 วรรคสาม ให้คำนวณเงินเพิ่มได้ แต่มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสีย ปัญหาข้อนี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า เงินเพิ่มที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เมื่อรวมกับเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องแล้วมิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share