คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2947/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 19 ยังไม่ได้กำหนดให้สถานีขนส่งสายเหนือเป็นสถานที่หยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสารไว้เป็นการต่างหาก จึงต้องนำประกาศของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่ง ซึ่งประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาใช้ตามมาตรา 164 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 จึงมิใช่การนำกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วมาใช้บังคับและลงโทษแก่จำเลย
รถประจำทางปรับอากาศต้องหยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสาร ณ สถานที่ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดหรือสถานที่หยุดหรือจอดรถตามที่มาตรา 164 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 บัญญัติไว้เท่านั้น การที่จำเลยหยุดหรือจอดรถรับส่งผู้โดยสารที่ศูนย์รถแห่งอื่นจึงเป็นความผิดตามมาตรา 156 แล้ว แม้จำเลยจะนำรถเข้าหยุดหรือจอดรับผู้โดยสารที่สถานีขนส่งสายเหนือซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดในภายหลัง ก็ตามก็ไม่เป็นการลบล้างการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งได้กระทำมาแล้วให้หมดสิ้นไป
คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 156 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ครบถ้วนแล้ว แต่เนื่องจากสถานที่หยุดหรือจอดรถยังคงเป็นไปตามประกาศกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทยเรื่อง กำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่ง ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2503 ตามที่มาตรา 164 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ได้บัญญัติไว้ว่าให้นำมาใช้ได้ การที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องระบุว่าสถานีขนส่งสายเหนือเป็นสถานีขนส่งตามที่กำหนดไว้และขอระบุประกาศดังกล่าวเป็นพยานเพิ่มเติม ภายหลังจากที่โจทก์สืบพยานหมดไปแล้ว แต่ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี จึงกระทำได้ตาม มาตรา 163 และมาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และการขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีหรือหลงข้อต่อสู้เพราะจำเลยก็ทราบว่า จำเลยจะต้องหยุดหรือจอดรถรับส่งคนโดยสารที่สถานีขนส่งอยู่แล้ว และการที่โจทก์นำพยานมาสืบเพิ่มเติมภายหลังที่โจทก์ได้แถลงหมดพยานแล้วนั้นก็เป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะสืบพยาน จึงไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์โดยสารประจำทางรับส่งคนโดยสารจากกรุงเทพมหานครจะไปจังหวัดขอนแก่นโดยไม่นำรถเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับผู้โดยสาร ณ สถานีขนส่งสายเหนือซึ่งเป็นสถานีขนส่งตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๐๓ กำหนดไว้ จำเลยได้ฝ่าฝืนโดยจอดรถที่ศูนย์รถเทพประสาททัวร์บริเวณปากซอยเฉยพ่วงและรับผู้โดยสารประมาณ ๓๐ คน เพื่อจะขนส่งไปจังหวัดขอนแก่น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๙, ๑๕๖, ๑๖๔ พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๔๙ ประกาศกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่ง ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๐๓ และประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เรื่อง กำหนดประเภทรถที่ต้องเข้าหยุดและจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสาร ณ สถานีขนส่งผู้โดยสาร ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๐๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๙, ๑๕๖, ๑๖๔ ฯลฯ ให้ปรับ ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยได้นำรถคันเกิดเหตุเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งคนโดยสารที่ศูนย์รถเทพประสาททัวร์ในซอยเฉยพ่วงและต่อมาจำเลยได้หยุดและรับส่งคนโดยสารที่สถานีขนส่งสายเหนือและวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่า ที่จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์นำพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๔๙ และประกาศกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่ง ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๐๓ ซึ่งถูกยกเลิกแล้วมาบังคับแก่จำเลยและลงโทษจำเลยตาม มาตรา ๑๕๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงไม่ชอบนั้น ปัญหาข้อนี้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๖๔ ได้บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลมีใจความว่า ในระหว่างที่ยังมิได้มีกฎกระทรวง ข้อกำหนดหรือระเบียบ ออกตามพระราชบัญญัตินี้ให้กฎกระทรวง ข้อกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศใด ๆ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ ฯลฯ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้คงใช้บังคับต่อไป เมื่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๙ ยังไม่ได้กำหนดให้สถานีขนส่งสายเหนือเป็นสถานที่หยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสารไว้เป็นต่างหากจากประกาศของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๐๓ ดังนั้นจึงต้องนำปกระกาศกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่งซึ่งประกาศโดยอาศัยตามความในมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ มาใช้ตามมาตรา ๑๖๔ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงมิใช่การนำกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วมาใช้บังคับแก่จำเลยและลงโทษจำเลยดังที่จำเลยฎีกา
ปัญหาข้อต่อไปที่จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยจะได้นำรถคันเกิดเหตุไปหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งคนโดยสารที่ศูนย์รถเทพประสาททัวร์ก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นความผิดเพราะต่อมาจำเลยได้นำรถไปหยุดและจอดรับส่งคนโดยสารที่สถานีรถโดยสารปรับอากาศตามประกาศของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดนั้น วินิจฉัยว่าการหยุดหรือจอดรับส่งผู้โดยสารนั้นจำเลยจะต้องหยุดหรือจอดรถ ณ สถานที่ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดหรือสถานที่หยุดหรือจอดรถตามที่มาตรา ๑๖๔ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติไว้เท่านั้น การที่จำเลยหยุดหรือจอดรถรับส่งผู้โดยสารที่ศูนย์รถเทพประสาททัวร์จึงเป็นความผิดตามมาตรา ๑๕๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ แล้ว ดังนั้นการที่จำเลยนำรถเข้าหยุดหรือจอดรับผู้โดยสารที่สถานีขนส่งสายเหนือซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกำหนดในภายหลังจึงไม่เป็นการลบล้างกระทำความผิดของจำเลยซึ่งได้กระทำมาแล้วให้หมดสิ้นไปได้ไม่ การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดอยู่
ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๑๕๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ โจทก์เพิ่งขอระบุพยานเพิ่มเติมและขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องภายหลังที่โจทก์แถลงว่าหมดพยานโจทก์แล้ว และการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์สืบพยานต่อไปเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบนั้น เห็นว่าคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา ๑๕๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ครบถ้วนแล้ว แต่ที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องและระบุพยานเพิ่มเติมในภายหลังนั้น เนื่องจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางยังมิได้กำหนดให้สถานีขนส่งสายเหนือเป็นสถานที่ซึ่งใช้เป็นสถานีขนส่งสำหรับหยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสารตามมาตรา ๑๙ (๑๑) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้เดิม ดังนั้น สถานที่หยุดหรือจอดรถจึงต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่งซึ่งประกาศเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๐๓ ตามที่มาตรา ๑๖๔ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้บัญญัติไว้ว่าให้นำมาใช้ได้ การที่โจทก์ขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องเมื่อโจทก์สืบพยานไปแล้วนั้น โจทก์ได้ดำเนินการก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี จึงกระทำได้ตาม มาตรา ๑๖๓ และมาตรา ๑๖๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และการขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวแล้วนั้นไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีหรือหลงข้อต่อสู้เพราะจำเลยก็ทราบว่าจำเลยจะต้องหยุดหรือจอดรถรับส่งคนโดยสารที่สถานีขนส่งอยู่แล้ว การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตจึงชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณาความ และการที่โจทก์นำพยานมาสืบเพิ่มเติมภายหลังที่ได้แถลงว่าหมดพยานแล้วนั้นก็เป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะสืบพยานจึงไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share