แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พินัยกรรมของผู้ตายที่ตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีข้อความตอนใดจำกัดห้ามมิให้ผู้ร้องจัดการมรดกของผู้ตายที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรม การที่ศาลมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด จึงเป็นการชอบ คำร้องของผู้ร้องได้บรรยายเหตุจำเป็นที่จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกไว้แล้ว เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเข้ามาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(4) บังคับให้ต้องดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติว่าด้วยคดีอันมีข้อพิพาท ตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านก็ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้โต้เถียงว่าไม่มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก และยังได้ขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วย แสดงว่าผู้คัดค้านได้ยอมรับแล้วว่า มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย ประเด็นเรื่องเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกจึงไม่มี ผู้ร้องไม่จำต้องนำสืบถึงเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายอีก เมื่อข้อความในพินัยกรรมระบุว่า ผู้ตายขอตัดญาติพี่น้องออกจากกองมรดกทั้งหมด ดังนี้ แม้ผู้คัดค้านจะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตายก็ไม่อยู่ในฐานะทายาทที่จะมายื่นคำร้องขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 ได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอ ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางละม่อม ผ่องสุวรรณ์ ผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกในส่วนนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในพินัยกรรม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางละม่อมผ่องสุวรรณ์ ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนได้ความว่านางละม่อมผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2533ด้วยโรคหัวใจล้มเหลวตามมรณบัตรเอกสารหมาย ร.1 ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ตามเอกสารหมาย ร.2 กำหนดให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่มีทรัพย์มรดกบางส่วนที่พินัยกรรมไม่ได้กำหนดไว้ว่าให้ตกแก่ผู้ใดบิดามารดาและสามีของผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตายแล้วผู้ตายไม่มีบุตรแต่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ซึ่งยังมีชีวิตอยู่และเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย 2 คน คือ ผู้คัดค้านและนายศิริ เศวตมาลย์ ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายมิให้เป็นผู้จัดการมรดก
พิเคราะห์แล้ว ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ตามพินัยกรรมประสงค์ให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแต่เฉพาะทรัพย์ที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น ผู้ร้องมิได้เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ย่อมไม่มีสิทธิที่จะจัดการทรัพย์มรดกที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดขัดกับคำสั่งของผู้ตายเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.2 ข้อ 6 มีข้อความว่า “ข้าพเจ้าขอตั้งให้นายกรกช จิตติพล (ผู้ร้อง) เป็นผู้จัดการตามพินัยกรรมนี้ด้วย”ตามพินัยกรรมดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดจำกัด ห้ามมิให้ผู้ร้องจัดการมรดกของผู้ตายที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมแต่อย่างใดเมื่อพินัยกรรมตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายไว้โดยมิได้จำกัดอำนาจเช่นนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด จึงเป็นการชอบแล้ว หาเป็นการขัดกับคำสั่งของผู้ตายไม่ ฎีกาของผู้คัดค้านในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ตามทางนำสืบของผู้ร้องไม่ปรากฏว่าผู้ร้องมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายอย่างไร ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิมายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ที่ศาลมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอ้างว่าผู้ร้องไปขอจัดการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกตามคำสั่งในพินัยกรรมแล้วแต่มีเหตุขัดข้อง คำร้องของผู้ร้องได้บรรยายเหตุจำเป็นที่จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกไว้แล้ว เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเข้ามาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(4) บังคับให้ต้องดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติว่าด้วยคดีอันมีข้อพิพาท ตามคำคัดค้านของผู้คัดค้าน ก็ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้โต้เถียงว่าไม่มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก และผู้คัดค้านยังได้ขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วย แสดงว่าผู้คัดค้านได้ยอมรับแล้วว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย ประเด็นเรื่องเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกจึงไม่มี ผู้ร้องจึงไม่ต้องนำสืบถึงเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายอีกเมื่อพินัยกรรมกำหนดให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย และผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ศาลจึงมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่ผู้คัดค้านฎีกาขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมของผู้ตายนั้น เห็นว่าตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.2 ข้อ 7 มีข้อความระบุว่า “ญาติพี่น้องข้าพเจ้าไม่มีสิทธิในมรดกนี้ ข้าพเจ้าขอตัดออกจากกองมรดกทั้งหมดของข้าพเจ้าด้วย” ผู้คัดค้านเองก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายผู้ร้องรับว่า คำว่า “ญาติพี่น้อง” ในพินัยกรรมดังกล่าวหมายถึงตัวผู้คัดค้านและนายศิริเมื่อข้อความในพินัยกรรมระบุไว้ชัดแจ้งผู้ตายขอตัดญาติพี่น้องออกจากกองมรดกทั้งหมดของผู้ตาย ผู้คัดค้านจึงไม่อยู่ในฐานะทายาทที่จะมายื่นคำร้องขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดกตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านนั้นชอบแล้วฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน