คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2945/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุลูกจ้างได้ทำข้อตกลงกับนายจ้างเป็นหนังสือว่า ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยและเงินผลประโยชน์เนื่องจากการปลดเกษียณจากนายจ้างแล้วลูกจ้างรับรองว่าจะไม่ใช้สิทธิเรียกเงินอื่นใดจากนายจ้างอีกต่อไป ดังนี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่หมายความว่าลูกจ้างยอมสละสิทธิเรียกร้องเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับจากนายจ้างทุกประเภทซึ่งรวมทั้งเงินบำเหน็จที่ยังขาดอยู่ด้วย ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินบำเหน็จที่ยังขาดจากนายจ้างอีกต่อไป
การที่ลูกจ้างยอมสละสิทธิในการรับเงินบำเหน็จนั้นเป็นเรื่องลูกจ้างยอมสละสิทธิในจำนวนเงินที่ลูกจ้างจะพึงได้รับจากนายจ้างเท่านั้น ส่วนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินบำเหน็จซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีอยู่อย่างไร คู่กรณีก็คงปล่อยให้เป็นไปตามเดิม จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ขาดไป 60,030 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ไปแล้ว 275,971 บาท โจทก์ได้ทำหนังสือรับรองว่าจะไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเงินอื่นใดจากจำเลยอีกต่อไป จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องซ้ำอีก

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ขณะเมื่อโจทก์เกษียณอายุและจำเลยได้จ่ายเงินตามสิทธิที่โจทก์จะพึงได้รับตามกฎหมายและตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแก่โจทก์ โจทก์ทำหนังสือรับรองความว่า “ข้าพเจ้าได้รับเอาเงินจำนวน60,000 บาท ซึ่งให้ถือเป็นเงินค่าชดเชยเนื่องจากการออกจากงานของข้าพเจ้าตามกฎหมาย และเงินจำนวน 275,971 บาทเป็นผลประโยชน์ที่ข้าพเจ้าได้รับจากบริษัทฯเนื่องจากการปลดเกษียณอายุ และขอรับรองยืนยันว่าไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตามข้าพเจ้ารับรองว่าจะไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเงินอื่นใดจากบริษัทฯ อีกต่อไป” เท่ากับเป็นการยืนยันสละสิทธิเรียกร้องเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยทุกประเภท รวมทั้งเงินบำเหน็จที่ยังขาดอยู่อีก 60,000 บาทด้วย หาได้หมายความว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องเงินอื่นที่มิใช่เงินบำเหน็จและค่าชดเชยไม่ สำหรับค่าชดเชยนั้นโจทก์ได้รับไปครบถ้วนถูกต้องแล้ว ส่วนเงินบำเหน็จนั้นเมื่อโจทก์สละสิทธิแล้วย่อมจะฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยอีกไม่ได้ตามที่โจทก์ตกลงและถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันมีผลผูกพันโจทก์ตามข้อตกลงนั้น

ส่วนปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ว่าหลักเกณฑ์การจ่ายเงินบำเหน็จเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงเกี่ยวพันกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนการที่โจทก์ยอมสละสิทธิในการรับเงินบำเหน็จจึงเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่มีผลใช้บังคับนั้น เห็นว่า ที่โจทก์สละสิทธิเรียกร้องเงินอื่นใดจากจำเลยอีกนั้น เป็นเรื่องโจทก์ยอมสละสิทธิในจำนวนเงินที่โจทก์จะพึงได้จากจำเลยเท่านั้น ส่วนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินบำเหน็จซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีอยู่อย่างไร โจทก์จำเลยก็คงปล่อยให้เป็นไปอย่างที่มีอยู่ มิได้แตะต้องหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share