แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งห้ามีสัญชาติไทย แต่ปรากฏว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านญวนอพยพที่แสดงว่าเป็นคนสัญชาติญวน และการจัดทำทะเบียนบ้านญวนอพยพอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานกิจการญวนอพยพ เมื่อจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานและเป็นนายทะเบียนบ้านญวนอพยพการที่โจทก์ทั้งห้าได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ถอนชื่อโจทก์ทั้งห้าออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยอ้างว่ากระทำการตามหน้าที่และคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจำเลยที่ 2เป็นผู้รักษาการ เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิในเรื่องสัญชาติของโจทก์ทั้งห้าแล้ว โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ตราบใดที่ยังมิได้มีการถอนชื่อโจทก์ทั้งห้าออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพให้ถูกต้องก็ต้องถือว่าโจทก์ทั้งห้าถูกโต้แย้งสิทธิในเรื่องสัญชาติอยู่ตลอดเวลา ฟ้องโจทก์ทั้งห้า จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นคนสัญชาติไทยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันถอนชื่อโจทก์ทั้งห้าออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพเลขที่ 261 หมู่ที่ 2 ถนนสรรพสิทธิ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิมาตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2514 ซึ่งเป็นระยะเวลาล่วงเลยมานานและขาดอายุความแล้ว การกระทำของจำเลยไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับสัญชาติของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นบุคคลสัญชาติไทย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันถอนชื่อโจทก์ทุกคนออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพ เลขที่ 261 หมู่ที่ 2 ถนนสรรพสิทธิตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานีจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองถอนชื่อโจทก์ทั้งห้าออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพเลขที่ 261 หมู่ที่ 2ถนนสรรพสิทธิ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี คำขออื่นของโจทก์ให้ยก จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า นายต้าวหรือต่าว หรือเต้า หรือเตากับนางนา แซ่เหวียน หรือเวียนหรือเหงียน เชื้อชาติญวน สัญชาติญวน เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งห้าเป็นบุตรของนายต้าวกับนางนา เกิดที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) เมื่อปี พ.ศ. 2514 พันตำรวจโทอนันต์ดวงบุบผา หัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพในขณะนั้น ได้อ้างประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ให้โจทก์ทุกคนไปทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวคนญวนอพยพ โดยนำชื่อโจทก์ทุกคนเข้าอยู่ในทะเบียนบ้านญวนอพยพ เลขที่ 261 ตำบลปทุม อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2527 โจทก์ทั้งห้าจึงฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีและเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ในขณะที่ฟ้อง ให้ถอนชื่อโจทก์ทั้งห้าออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพดังกล่าว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อปี พ.ศ. 2514 พันตำรวจโทอนันต์ ดวงบุบผา หัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพในขณะนั้นได้อ้างประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ให้โจทก์ทุกคนไปทำทะเบียนประวัติ และบัตรประจำตัวคนญวนอพยพ โดยนำชื่อโจทก์ทุกคนเข้าอยู่ในทะเบียนบ้านญวนอพยพดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งห้ามีสัญชาติไทยแต่ปรากฏว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านญวนอพยพที่แสดงว่าเป็นคนสัญชาติญวน จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในเรื่องสัญชาติของโจทก์ทั้งห้า และการจัดทำทะเบียนบ้านญวนอพยพอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานกิจการญวนอพยพ หัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพเป็นนายทะเบียนบ้านญวนอพยพ และขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพ และโจทก์ทั้งห้าได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ถอนชื่อโจทก์ทั้งห้าออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพดังกล่าวแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย อ้างว่ากระทำการตามหน้าที่ และคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิในเรื่องสัญชาติของโจทก์ทั้งห้าแล้วโจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ และมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองอีกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เห็นว่า ตราบใดที่ยังมิได้มีการถอนชื่อโจทก์ทั้งห้าออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพให้ถูกต้องก็ต้องถือว่าโจทก์ทั้งห้าถูกโต้แย้งสิทธิในเรื่องสัญชาติอยู่ตลอดมา ฟ้องโจทก์ทั้งห้าจึงไม่ขาดอายุความที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน