คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2932/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ ก. ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยในคดีล้มละลาย ได้รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่จำเลยร่วมกันจำหน่ายทรัพย์ไปในราคาที่ต่ำมาก ทำให้โจทก์เกิดความเสียหายและได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีกับฝ่ายจำเลยแสดงว่าโจทก์ได้ทราบเรื่องการจำหน่ายทรัพย์รายนี้แล้วและจะอ้างว่าการกระทำผิดฐานโกงเจ้าหนี้ต่อโจทก์ เป็นเรื่องนอกขอบเขตวัตถุประสงค์ของการมอบอำนาจไม่ได้เพราะ ก. เป็นตัวแทนกระทำการแทนโจทก์ทั้งสิ้น จะแยกฟังเฉพาะเรื่องที่เป็นคุณต่อโจทก์โจทก์จึงทราบ ส่วนเรื่องที่เป็นผลร้ายแก่โจทก์โจทก์ไม่ทราบ เป็นการผิดวิสัยและขัดต่อเหตุผล

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่โจทก์ โดย ก. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ในคดีล้มละลายของจำเลยได้ทราบเรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความ พิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 80 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2, 3 คนละ 6 เดือน โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 แล้วนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้โดยไม่มีข้อโต้แย้งว่า ทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหมายเลข 3 อันเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยให้การไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2518 และวันที่ 8 เมษายน 2519 ตามลำดับ ได้ระบุถึงเรื่องราวการขายฝากทรัพย์รายนี้ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องโดยละเอียด และนายกานต์ คำปาน ผู้แทนโจทก์ได้ขอคัดสำเนาคำให้การของจำเลยที่ 2 ไว้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2519 กับลงชื่อรับทราบไว้ท้ายคำให้การของจำเลยที่ 3 ในวันที่ 8 เมษายน 2519 ฉะนั้น นายกานต์จึงรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดอย่างน้อยตั้งแต่วันดังกล่าว ปัญหามีว่าในกรณีเช่นนี้จะถือได้ว่าโจทก์รู้ด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไปให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรื่องขายฝากทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหมายเลข 3 นั้น มิใช่ว่าเมื่อขายฝากทรัพย์ดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไปให้การโดยลำพังเอง แต่เป็นเพราะโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย โดยนายกานต์ผู้รับมอบอำนาจได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหาย ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาไต่สวน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ให้การมีรายละเอียดตามคำให้การลงวันที่ 16 ตุลาคม 2518 และวันที่ 8เมษายน 2519 ตามลำดับ ทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหมายเลข 3 อันเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์มีด้วยกันถึง 69 รายการ มีราคาประมาณ 4 ล้านบาท โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ในคดีล้มละลายโดยนายกานต์ผู้รับมอบอำนาจทราบเรื่องว่าฝ่ายจำเลยได้ขายฝากกับนายจำรัส นกเล็ก ไว้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2518 ในราคาเพียง 680,000 บาท เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะได้รับการชำระหนี้จากการบังคับคดีต่อทรัพย์สินของจำเลยลดน้อยลงมาก โจทก์ก็ต้องเห็นความเสียหายในเรื่องนี้ดี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2519 โจทก์โดยนายกานต์ผู้รับมอบอำนาจจึงได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นใจความว่า ปรากฏจากคำให้การของนายสำรอง เตชะพูลผล (หมายถึงจำเลยที่ 2) ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า บริษัทลูกหนี้ (หมายถึงจำเลยที่ 1) ได้นำเครื่องจักรไปขายฝากกับนายจำรัส (จำสกุลไม่ได้) เป็นเงิน 680,000 บาท ทำให้โจทก์เกิดความเสียหาย ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีกับฝ่ายจำเลย ดังนี้ ยิ่งแสดงว่าโจทก์ได้ทราบเรื่องขายฝากทรัพย์รายนี้ก่อนยื่นคำร้อง และนายกานต์ต้องรายงานเรื่องนี้ต่อโจทก์ในฐานะนายจ้างและผู้มอบอำนาจให้ทราบเรื่องในระยะเวลากระชั้นชิดอย่างแน่นอน โดยเฉพาะนายกานต์ยังขอให้เจ้าพนักงาพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีกับฝ่ายจำเลย แต่กับโจทก์ซึ่งมีความสำคัญต่อนายกานต์ถึงขนาดจะชี้ขาดว่านายกานต์ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ผิดพลาดบกพร่องหรือไม่ แล้วจะฟังว่านายกานต์ไม่ได้รายงานเรื่องนี้ให้โจทก์ทราบก่อนยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2519 จึงเป็นไปไม่ได้ การที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่านายกานต์ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับคดีล้มละลาย หาได้รับมอบอำนาจให้ทำการใด ๆ เกี่ยวกับคดีอาญาด้วยไม่ การที่นายกานต์รู้เรื่องจำเลยขายฝากเครื่องจักรและอุปกรณ์ของจำเลยที่ 1 อันเป็นเรื่องการกระทำผิดฐานโกงเจ้าหนี้ต่อโจทก์จึงเป็นเรื่องนอกขอบเขตวัตถุประสงค์ของการมอบอำนาจจะถือว่าโจทก์รู้ด้วยไม่ได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะการกระทำของนายกานต์ที่เกี่ยวพันกับการกระทำของฝ่ายจำเลย นายกานต์เป็นตัวแทนกระทำแทนโจทก์ทั้งสิ้น จะแยกฟังเฉพาะเรื่องที่เป็นคุณต่อโจทก์โจทก์จึงทราบ ส่วนเรื่องที่เป็นผลร้ายแก่โจทก์ โจทก์ไม่ทราบ เป็นการผิดวิสัยและขัดต่อเหตุผล ตามพฤติการณ์ที่กล่าวมาศาลฎีกาเชื่อว่าโจทก์ได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดอย่างช้าก่อนวันที่ 15 มกราคม 2519 แล้วความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความกันได้ แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2519 อันเป็นเวลาพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share