คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 293/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารสาขาของโจทก์ร่วมได้อนุมัติให้จ่ายเงิน 5,870,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในขณะที่ยังไม่ทราบผลการเรียกเก็บเงินตามเช็ค 2 ฉบับ รวมเงินจำนวน 7,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 2นำเข้าบัญชีเพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงิน อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ร่วมที่สั่งให้งดจ่ายเงินในกรณีที่ลูกค้าเอาเช็คเข้าบัญชีโดยยังไม่ทราบผลของการเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น เชื่อ ได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้อนุมัติจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวไปโดยทุจริตโดยคบคิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อเอาเงินของโจทก์ร่วม จึงมีความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 353.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันยักยอกเงิน จำนวน 5,870,000บาท โดยออกเช็ค 4 ฉบับเบิกเงินจำนวนดังกล่าวจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด สาขาเอกมัย ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของผู้เสียหายไปโดยสุจริตขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352, 353 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 5,870,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสาให้การปฏิเสธ
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบกับมาตรา 86ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปีให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 5,870,000 บาท แก่โจทก์ร่วม คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้เท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า “จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมโดยเป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์ร่วม สาขาเอกมัย จำเลยที่ 3 ทราบคำสั่งของโจทก์ร่วมที่ให้งดจ่ายเงินในกรณีที่ลูกค้าเอาเช็คเข้าบัญชีโดยยังไม่ทราบผลของการเรียกเก็บเงินตามเช็คแล้วเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2524 จำเลยที่ 2 ได้นำเช็คธนาคารทหารไทยจำกัด สาขาหัวหมาก เลขที่ 292854 (จำนวนเงิน 3,700,000 บาท)292856 (จำนวนเงิน 3,300,000 บาท) เข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 2373 ของจำเลยที่ 2 เพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คในวันเดียวกันนั้นยังไม่ทราบผลการเรียกเก็บเงินตามเช็คจำเลยที่ 3ได้อนุมัติให้จ่ายเงินจำนวน 5,870,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตน โดยจำเลยที่ 3 รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 2 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีเลขที่ 1998 จำนวน 100,000 บาท และได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาที่ 10/2524 ในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทการที่จำเลยที่ 3 กระทำผิดหน้าที่อนุมัติให้จ่ายเงินจำนวน 5,870,000บาท แก่จำเลยที่ 2 ไป และต่อมาปรากฎว่าเช็คทั้งสองฉบับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สั่งจ่ายเรียกเก็บเงินไม่ได้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3ได้อนุมัติจ่ายเงินไปโดยทุจริตคบคิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อเอาเงินของโจทก์ร่วม ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ชอบแล้ว ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาโดยการรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษนั้นเห็นว่า จำเลยเป็นผู้จัดการธนาคารสาขา เป็นผู้ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากโจทก์ร่วมให้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินและติดต่อกับประชาชน กลับอาศัยโอกาสนั้นเบียดบังเอาทรัพย์สินของโจทก์ร่วม ประกอบกับเงินที่เบียดบังไปเป็นจำนวนมาก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 โดยให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปีนั้น เหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะลดหย่อนผ่อนโทษ และไม่อาจรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษให้ได้ เพราะโทษจำคุกเกินกว่า 2 ปี”
พิพากษายืน.

Share