แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยออกเช็คนำไปแลกเงินสดจากโจทก์ แม้การออกเช็คของจำเลยดังกล่าวจะมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ก็ตาม แต่การที่จำเลยออกเช็คแล้วนำไปแลกเงินสดจากโจทก์และเช็คดังกล่าวไม่มีการชำระเงินตามที่จำเลยสั่งจ่ายนั้นย่อมเกิดเป็นหนี้ระหว่างจำเลยกับโจทก์ตามจำนวนเงินที่ระบุในเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 898,900 ในกรณีนี้หากจำเลยออกเช็คฉบับใหม่เพื่อชำระหนี้ตามเช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ดังกล่าว เช็คที่จำเลยออกในภายหลังนี้ย่อมถือว่าเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ได้ คดีนี้โจทก์และจำเลยได้แปลงหนี้เดิมซึ่งเป็นหนี้ตามเช็คมาเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืม และจำเลยได้ออกเช็คพิพาทชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืม จึงต้องถือว่าจำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 แล้ว จำเลยจึงมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืม และเมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนด โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินปรากฎว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า “บัญชีปิดแล้ว” แสดงว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้ทีการใช้เงินตามเช็คนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 ตามที่โจทก์ฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือนรวมจำคุก 12 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยฎีกาแต่ในปัญหาข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกานั้น ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเคยนำเช็คไปแลกเงินสดจากโจทก์หลายครั้ง ในที่สุดเป็นหนี้โจทก์เป็นเงินประมาณ4,000,000 บาท ต่อมาจำเลยได้แปลงหนี้ใหม่โดยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 400,000 บาท และ 408,000 บาท กับออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.3 และ จ.5 ให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนดใช้เงิน โจทก์นำไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า “บัญชีปิดแล้ว” จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 นั้น จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ดังนั้น หนี้เดิมจึงต้องมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย เมื่อหนี้เดิมจำเลยไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อมาโจทก์ทำหลักฐานแปลงหนี้ให้จำเลยลงลายมือชื่อและชื่อและมาฟ้องให้จำเลยรับผิด จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้การที่จำเลยออกเช็คนำไปแลกเงินสดจากโจทก์ การออกเช็คของจำเลยดังกล่าวจะมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ก็ตามแต่การที่จำเลยออกเช็คแล้วนำไปแลกเงินสดจากโจทก์และเช็คดังกล่าวไม่มีการชำระเงินตามที่จำเลยสั่งจ่ายนั้น ย่อมเกิดเป็นหนี้ระหว่างจำเลยกับโจทก์ตามจำเลยกับโจทก์ตามจำนวนเงินที่ระบุในเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 898, 900 ซึ่งในกรณีนี้หากจำเลยออกเช็คฉบับใหม่เพื่อชำระหนี้ตามเช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ดังกล่าว เช็คที่จำเลยออกในภายหลังนี้ย่อมถือว่าเป็นเช็คที่ออกเพื่อที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ได้เมื่อในคดีนี้ปรากฎว่าต่อมาโจทก์และจำเลยได้แปลงหนี้เดิม ซึ่งเป็นหนี้ตามเช็ค มาเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 และจำเลยได้ออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.3 และ จ.5 ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จึงต้องถือว่าจำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แล้ว จำเลยจึงมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.3 และ จ.5เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมดังกล่าวและเมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินปรากฎว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า “บัญชีปิดแล้ว” อันแสดงว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน