คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 292/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาโจทก์ทั้งสามจะนำค่าเสียหายในอนาคตสัปดาห์ละ2,000บาทนับแต่วันฟ้องจนถึงวันยื่นฎีกามาคำนวณด้วยไม่ได้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามคงมีจำนวน104,000บาทซึ่งมีจำนวนไม่เกิน200,000บาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา248วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2525 กรุงเทพมหานครได้จัดสถานที่เป็นตลาดนัดสวนจตุจักร โดยจัดแผงค้าเป็นล็อกแยกประเภทสินค้า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันค้าขายในแผงค่าหมายเลข 4 โจทก์ที่ 3 ค้าขายในแผงค้าหมายเลข 2 ส่วนจำเลยทั้งสองร่วมกันค้าขายในแผงค้าหมายเลข 1 ในแผงค้าที่กรุงเทพมหานครจัดไว้ ต่อมาต้นปี 2534 กรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงแผงค้าให้เป็นแผงค้าที่มีหลังคาปกคลุมมีสภาพถาวรและสวยงามตามแผนผังปรับปรุงโครงการที่ 5 โดยเรียกเก็บเงินจากผู้ค้าทุกรายแผงค้าละ 6,895 บาท สร้างเสร็จเมื่อวันที่28 ธันวาคม 2534 โดยกรุงเทพมหานครยังมิได้อนุญาตให้ผู้ค้าเข้าไปค้าขายในแผงค้า แต่จำเลยทั้งสองได้เข้าไปค้าขายเนื้อสัตว์ในแผงค้าของตนและได้รุกล้ำเข้าไปขายในแผงค้าของโจทก์ทั้งสามอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ที่ 2และที่ 3 ได้ร้องเรียนต่อผู้อำนวยการตลาดนัดสวนจตุจักร ผลการสอบสวนปรากฎว่าจำเลยทั้งสองมีแผงค้าอยู่เพียง 1 แผง แต่ได้รุกล้ำแผงค้าของโจทก์ทั้งสาม เจ้าพนักงานของกรุงเทพมหานครได้เรียกจำเลยที่ 2 มารับทราบผลการสอบสวนดังกล่าวพร้อมกับแจ้งให้จำเลยที่ 2 ขนย้ายสินค้าออกจากแผงค้าหมายเลข 2 และ4 แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่ปฎิบัติตาม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน104,000 บาท และอีกสัปดาห์ละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบแผงค้าพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อปี 2525 จำเลยทั้งสองได้เข้าไปทำการค้าขายหัวหมูพะโล้ในนามกลุ่มเกษตรกรอำเภอลำลูกกาจังหวัดปทุมธานี ในแผงค้าหมายเลข 1 ถึง 4 จำนวน 4 แผงค้าโจทก์ทั้งสามไม่เคยเข้าไปทำการค้าขายในแผงค้าหมายเลข 2และ 4 ดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามถูกโต้แย้งสิทธิ เพราะตามคำฟ้องบรรยายว่ากรุงเทพมหานครยังมิได้อนุญาตให้ผู้ค้าตามโครงการที่ 5 คนใดเข้าไปทำการค้าขายอย่างเป็นทางการ ที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าขาดรายได้สัปดาห์ละ 1,000 บาท ต่อรายนั้น ไม่เป็นความจริงเมื่อแผงค้าที่พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองละเมิดต่อโจทก์และคดีของโจทก์ทั้งสามขาดอายุความแล้วเพราะฟ้องเกินกว่า 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ ทั้ง สาม อุทธรณ์
โจทก์ ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าจำเลยทั้งสองละเมิดสิทธิเข้าไปค้าขายในแผงค้ารายพิพาทของโจทก์ทั้งสามขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสาม 104,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามสัปดาห์ละ2,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบแผงค้ารายพิพาทคืนให้แก่โจทก์ทั้งสาม ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามฎีกาขอให้ศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม เห็นว่า การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา โจทก์ทั้งสามจะนำค่าเสียหายในอนาคตสัปดาห์ละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันยื่นฎีกามาคำนวณด้วยไม่ได้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามคงมีจำนวน 104,000 บาท ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสามมีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิในแผงค้ารายพิพาท การที่จำเลยทั้งสองเข้าครอบครองแผงค้ารายพิพาทจึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสาม ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ซึ่งฟังว่าโจทก์ทั้งสามมิใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองแผงค้ารายพิพาท การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปครอบครองแผงค้ารายพิพาทจึงยังไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสาม อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับสั่งฎีกาของโจทก์ทั้งสามจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้พิพากษายกฎีกาของโจทก์ทั้งสาม

Share