แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงิน ยังมิได้ชำระหนี้การที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้แปลงหนี้เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวนหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจึงเป็นหนี้ใหม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ในสัญญาขายลดและในตั๋วสัญญาใช้เงินได้ ไม่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมหลายรายจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2532 โดยกู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สหธนกิจไทยจำกัด และโจทก์ วงเงินรวม 148,700,000 บาท เป็นการกู้ยืมเงินจากโจทก์49,350,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยในอัตราที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเบิกเงินเกินบัญชี (เอ็ม.โอ.อาร์)บวกด้วยร้อยละ 1.50 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในสิ้นเดือนเริ่มแต่เดือนที่มีการรับเงินตามสัญญา ส่วนเงินต้นกำหนดชำระเป็นรายเดือนเดือนละไม่น้อยกว่า 1,457,845 บาท ภายในสิ้นเดือนเริ่มแต่เดือนมกราคม2534 จนกว่าจะครบถ้วน แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญา หากผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นถือว่าผิดนัดทั้งหมด โจทก์มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันที พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้บริษัทเงินทุนเรียกเก็บได้ในขณะที่มีการผิดนัด ในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์และพวกดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3420, 3421, 3424, 3448, 3869, 4358 และ 4430 ตำบลบางกระเจ้าอำเภอเมืองสมุทรสาคร (บ้านบ่อ) จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์กับพวกและจำเลยที่ 1 ได้จำนองเครื่องจักรหมายเลขทะเบียน(รหัส 32 318 201) 0048 ถึง 0183, (รหัส 33 318 201) 0691 ถึง 0798และ (รหัส 33 323 201) 0014 ถึง 0070 ไว้แก่โจทก์กับพวกด้วย ตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ ยอมให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นจนครบถ้วน ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด และโจทก์ในวงเงิน 150,000,000 บาท เป็นการกู้ยืมเงินจากโจทก์ 50,000,000 บาทโดยแยกเป็นวงเงินปกติ 20,000,000 บาท และวงเงินหมุนเวียน30,000,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยในอัตราที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เรียกเก็บจากลูกหนี้รายใหญ่ชั้นดีประเภทเบิกเงินเกินบัญชี (เอ็ม.โอ.อาร์) หรือในอัตราที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม.แอล.อาร์)หรือในอัตราดอกเบี้ยถัวเฉลี่ยสูงสุดระหว่างสัปดาห์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดให้กู้ยืมแก่ธนาคารอื่นแล้วแต่อัตราใดสูงกว่าบอกด้วยร้อยละ 1.50 ต่อปีกำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในสิ้นเดือนเริ่มแต่เดือนที่มีการรับเงินกู้ตามสัญญา ส่วนเงินต้นตกลงชำระเป็นรายเดือนเดือนละไม่น้อยกว่า1,300,000 บาท ภายในสิ้นเดือน เริ่มแต่เดือนมีนาคม 2535 จนกว่าจะครบถ้วน แต่ไม่เกิน 9 ปี นับแต่วันทำสัญญา หากผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด โจทก์มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันทีและจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีหรือในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้เรียกเก็บได้ในขณะที่มีการผิดนัด ในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์กับพวกดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์ตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 จำนองลำดับสองที่ดิน7 แปลงเดิมพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด กับจำนองเครื่องจักรหมายเลขทะเบียน (รหัส 34 318 201)0633 ถึง 0684 และจำนองลำดับสองเครื่องจักรเดิมไว้แก่โจทก์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด โดยจำเลยที่ 1 ตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนครบถ้วนและต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 จำเลยที่ 1 จำนองลำดับสามที่ดิน7 แปลงเดิมไว้แก่โจทก์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สหธนกิจไทย จำกัด เพื่อเป็นการเพิ่มเติมหลักประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืม และตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นได้จนครบถ้วน จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้วงเงินปกติไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2534 เป็นเงิน 5,000,000บาท เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2534 เป็นเงิน 10,000,000 บาท และเมื่อวันที่ 10กันยายน 2534 เป็นเงิน 5,000,000 บาท ส่วนเงินกู้วงเงินหมุนเวียน จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปเพียง 24,858,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ตามเงื่อนไขการขอรับเงินกู้ส่วนนี้หลายครั้ง จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในเงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกและฉบับที่สองให้แก่โจทก์เรื่อยมาจนถึงเดือนมิถุนายน 2537 แล้ว ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2537 ส่วนการชำระเงินต้น จำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระให้แก่โจทก์โดยตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกขอเลื่อนกำหนดเวลาชำระไป 2 ครั้งเริ่มแต่เดือนมกราคม 2534 และเดือนกุมภาพันธ์ 2537 สำหรับตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สองในส่วนที่เป็นวงเงินปกติขอเลื่อนกำหนดเวลาชำระไป 2 ครั้ง เริ่มแต่เดือนตุลาคม 2535 และเดือนกุมภาพันธ์ 2537แต่ในที่สุดจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินต้นแก่โจทก์ และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม2537 เป็นวันครบกำหนดชำระเงินต้นส่วนที่เป็นวงเงินหมุนเวียนจำเลยที่ 1 ก็ผิดนัด โจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนองแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินต้นและไม่ชำระดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2537 เป็นการผิดสัญญา จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันชำระเงินต้นตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกเป็นเงิน 49,350,000 บาทและสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สองวงเงินปกติและวงเงินหมุนเวียน เป็นเงิน44,858,000 บาท รวมเป็นเงินต้น 94,208,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 24,282,433.28 บาท รวมเป็นเงิน118,490,433.28 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน118,490,433.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของเงินต้น94,208,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ และหากได้เงินไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน3 ฉบับ เป็นเงิน 24,858,000 บาท จากโจทก์เพราะโจทก์เรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีเป็นเวลา 1 ปีเศษจากเงินต้น 69,350,000 บาทเป็นการแปลงสภาพจากดอกเบี้ยมาเป็นเงินต้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบกับจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์แล้ว หนี้ที่แท้จริงคงเหลือไม่ถึง 69,350,000 บาท จำเลยที่ 4 ไม่ได้ตกลงกับโจทก์เกี่ยวกับการแก้ไขวงเงินขายลดเช็คทางการค้าเป็นวงเงินขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเงิน 24,858,000 บาท จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิด โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกเป็นเงิน 49,350,000 บาท และตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สองเป็นเงิน 44,858,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ21 ต่อปีของเงินต้น 94,208,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 21 กันยายน2538) ให้ไม่เกิน 24,282,433.28 บาท หากไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรก ให้บังคับจำนองจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3420, 3421,3424, 3448, 3869, 4358 และ 4430 ตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมืองสมุทรสาคร (บ้านบ่อ) จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นอันดับที่ 1และอันดับที่ 3 ในวงเงิน 101,700,000 บาท และ 20,000,000 บาทตามลำดับ และบังคับจำนองจากเครื่องจักรพร้อมส่วนควบและอุปกรณ์หมายเลขทะเบียน (รหัส 32 318 201) 0048-0183 ในวงเงิน 18,000,000บาท และหมายเลขทะเบียน (รหัส 33 318 201) 0691-0766, 0768-0791, 0393-0798 และ (รหัส 33 323 201) 0014-0070 เป็นอันดับที่ 1 ในวงเงิน59,000,000 บาท หรือหากไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สอง ให้บังคับจำนองจากที่ดินและเครื่องจักรดังกล่าวเป็นอันดับที่ 2 ในวงเงิน 67,300,000 บาท และ 14,650,000 บาท ตามลำดับ และบังคับจำนองจากเครื่องจักรพร้อมส่วนควบและอุปกรณ์หมายเลขทะเบียน (รหัส 34 318 201) 0633-0635, 0637-0684 ในวงเงิน 38,050,000 บาทหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 94,208,000 บาท คือ ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกจำนวน 49,350,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปีของเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สอง จำนวน 20,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ21 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 และตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 24,858,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ21 ต่อปีของเงินต้น 1,860,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ของเงินต้น 21,218,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 และของเงินต้น 1,780,000 บาท นับแต่วันที่ 14กรกฎาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมกันต้องไม่เกิน 24,282,433.28 บาท ตามที่โจทก์ขอ หากไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3420, 3421, 3424, 3448, 3869, 4358 และ 4430 ตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมืองสมุทรสาคร (บ้านบ่อ) จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นลำดับหนึ่งและลำดับสามในวงเงิน 101,700,000 บาท และ 20,000,000 บาทตามลำดับและบังคับจำนองเครื่องจักรพร้อมส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์หมายเลขทะเบียน (รหัส 32 218 201) 0048 ถึง 0183 เป็นลำดับหนึ่งในวงเงิน 18,000,000 บาท และหมายเลขทะเบียน (รหัส 33 318 201)0691 ถึง 0766, 0768 ถึง 0791, 0793 ถึง 0798 หมายเลขทะเบียน (รหัส33 323 201) 0014 ถึง 0070 เป็นลำดับหนึ่งในวงเงิน 59,000,000 บาทหากไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สองและตั๋วสัญญาใช้เงินให้บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรพร้อมส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้นเป็นลำดับสองในวงเงิน 67,300,000บาท และ 14,650,000 บาท ตามลำดับ และบังคับจำนองเครื่องจักรพร้อมส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์หมายเลขทะเบียน (รหัส 34 318 201)0633 ถึง 0635, 0637 ถึง 0684 เป็นลำดับหนึ่งในวงเงิน 38,050,000บาท หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในข้อสองมีว่า หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน 3 ฉบับ คือ ตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 3063/2537 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2537 จำนวนเงิน 1,780,000 บาทเอกสารหมาย จ.5 ตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 2635/2537 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2537 จำนวนเงิน 1,860,000 บาท เอกสารหมาย จ.54 และตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 2416/2537 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2537 จำนวนเงิน 21,218,000 บาท เอกสารหมาย จ.31 รวมจำนวนเงินทั้งสิ้น 24,858,000 บาท เป็นการแปลงหนี้จากดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินและโจทก์คิดดอกเบี้ยอีก จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย หนี้ทั้งหมดย่อมตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2532 และสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2534 เอกสารหมาย จ.11 และ จ.15 ยังมิได้ชำระหนี้และคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้แปลงหนี้เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสามฉบับดังกล่าว ซึ่งตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ก็มิได้โต้แย้งว่าเป็นการแปลงหนี้ที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยคงกล่าวอ้างในฎีกาเพียงว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่ระบุในตั๋วสัญญาใช้เงินเพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยเท่านั้น ในข้อนี้เมื่อการแปลงหนี้ดังกล่าวได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายจำนวนหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสามฉบับจึงเป็นหนี้ใหม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ในสัญญาขายลดและในตั๋วสัญญาใช้เงินหาเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน