คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อบุคคลที่โจทก์แต่งตั้งเป็นทนายความเข้าว่าต่างคดีให้โจทก์ในศาลชั้นต้น และลงชื่อในอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อศาลนั้น เป็นผู้ที่ขาดจากการเป็นทนายความและต้องห้ามมิให้ว่าความในศาลหรือแต่งคำฟ้องคำให้การ คำฟ้องอุทธรณ์คำฟ้องฎีกา ฯลฯ ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 44(3) และมาตรา 33 มาแต่แรก แม้ภายหลังจากนั้นต่อมาบุคคลดังกล่าวจะได้จดทะเบียนและได้รับอนุญาตให้เป็นทนายความประเภทตลอดชีพก็ตาม แต่ขณะที่ว่าต่างคดีให้โจทก์ได้ขาดจากการเป็นทนายความแล้ว ย่อมไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่บุคคลดังกล่าวรับแต่งตั้งจากโจทก์ให้เป็นทนายว่าต่างมาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งเป็นกรณีที่มิได้ปฎิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคแรกและมาตรา 62 ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(2) ประกอบด้วยมาตรา 247 ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ให้ขับไล่จำเลย
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องขอให้พิพากษากำจัดจำเลยมิให้ได้รับมรดกของนายนวล คำนึง ให้จำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทกับให้ได้ดำเนินการโอนหรือเปลี่ยนชื่อในหนังสือรับการทำประโยชน์เป็นชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายนวล คำนึง ผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกและจำเลยในสำนวนหลังว่าโจทก์ ให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนหลังว่าจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำนวนแรก และให้บังคับคดีตามฟ้องสำนวนหลัง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
จำเลยยื่นคำแก้ฎีกาและคำร้องมีข้อความทำนองเดียวกันว่าในช่วงปี 2533 ถึง 2534 นายประจญ ทนายโจทก์ซึ่งลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์แทนโจทก์และเป็นผู้เรียกอุทธรณ์ในฐานะทนายของโจทก์ได้ขาดต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์จึงไม่มีผลตามกฎหมายเท่ากับโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ คดีถึงที่สุดตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้ว โจทก์จึงฎีกาไม่ได้ ขอให้ศาลสอบถามคุณสมบัติของทนายโจทก์ในช่วงเวลาดังกล่าวจากผู้เกี่ยวข้องแล้วมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฎีกา และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฎีกาโจทก์
ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสอบถามผู้เกี่ยวข้องตามคำร้องของจำเลยแล้ว ศาลชั้นต้นนัดสอบถามนายประจญ ทนายโจทก์และนายสุ่รกิจ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสภาทนายความจังหวัดศรีสะเกษในปี 2533 ถึงต้นปี 2535 ปรากฎตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2535
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สมควรวินิจฉัยปัญหาตามที่จำเลยแก้ฎีกาและยื่นคำร้องว่า นายประจญ ทนายความที่โจทก์แต่งตั้งให้ว่าต่างคดีได้ลงชื่อในอุทธรณ์โจทก์เป็นผู้อุทธรณ์และผู้เรียกไปในขณะที่ขาดต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความหรือไม่เสียก่อน ในปัญหาดังกล่าวเห็นว่า ตามใบแต่งทนายความลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ที่โจทก์แต่งให้นายประจญ เป็นทนายความว่าต่างคดีทั้งสองสำนวนนี้ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ในข้อความขอรับเป็นทนายความ ปรากฎว่านายประจญได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความเมื่อปี 2529ตามใบอนุญาตที่ 6676/2529 ซึ่งใบอนุญาตมีอายุใช้ได้เป็นเวลา 2 ปีนับแต่วันออกใบอนุญาตตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2528 มาตรา 39 วรรคแรก ฉะนั้น ใบอนุญาตให้เป็นทนายความของนายประจญ จึงสิ้นอายุเมื่อปี 2531 และ ยังได้ความจากนายสุรกิจ ประธานคณะอนุกรรมการสภาทนายความจังหวัดศรีสะเกษที่แถลงต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 9พฤศจิกายน 2535 ว่า นายสุรกิจได้รับคำร้องจอต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความของนายประจญเมื่อปลายปี 2534 จึงมอบหมายให้นายวันดี ไปดำเนินการ แต่ปรากฎว่าสภาทนายความไม่รับการต่ออายุใบอนุญาตของนายประจญ เนื่องจากใบอนุญาตขาดช่วงไปไม่ติดต่อกันถึงปี 2535 ดังนั้น ขณะที่นายประจญ เข้าว่าต่างคดีให้โจทก์ในศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2532 และลงชื่อในอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2533 นั้น นายประจญ เป็นผู้ที่ขาดจากการเป็นทนายความ และต้องห้ามมิให้ว่าความในศาลหรือแต่งคำฟ้องคำให้การ คำฟ้องอุทธรณ์ คำฟ้องฎีกา ฯลฯ ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 44(3) และมาตรา 33ตามลำดับ มาแต่แรก แม้ต่อมานายประจญ จะได้จดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความประเภทตลอดชีพ เมื่อวันที่ 31 มกราคม2535 ตามใบอนุญาตเลขที่ 102/2535 ดังที่นายประจญแถลงต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจาณาลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2535ก็ตามแต่ขณะที่นายประจญได้ขาดจากการเป็นทนายความแล้วย่อมไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตั้งแต่วันที่ 19ตุลาคม 2532 ที่นายประจญรับแต่งตั้งจากโจทก์ให้เป็นทนายว่าต่างมาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 วรรคแรก และมาตรา 62 ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ใหม่ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) ประกอบด้วยมาตรา 247แม้จำเลยยื่นคำแก้ฎีกา และคำร้องแต่เพียงว่านายประจูญทนายโจทก์ซึ่งลงชื่อในอุทธรณ์และผู้เรียงในขณะที่ขาดต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบเท่านั้นก็ตาม แต่เมื่อปรากฎต่อศาลฎีกาว่านายประจญเป็นผู้ขาดต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความจึงไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณามาตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้ว ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2532 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อจากวันที่ 18 ตุลาคม 2532 จนเสร็จการพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share