คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 505/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลมีมติว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ทำนา เป็นเพียงความเห็นในการรับฟังถ้อยคำของจำเลยทั้งสี่ว่า ไม่น่าเชื่อถือและการที่คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดมีมติว่า จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ทำนา ก็เพราะเชื่อถ้อยคำของจำเลยทั้งสี่ กรณีจึงถือไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสี่แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดต่อศาล เพื่อให้พิจารณาคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามที่กฎหมายให้สิทธิไว้แม้จำเลยที่ 1 จะคัดค้านการที่จำเลยที่ 2 จะโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครไม่ยอมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามที่จำเลยที่ 1 คัดค้านไว้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็เป็นการใช้สิทธิเพื่อจะดำเนินตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)ไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานแจ้งความเท็จ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 4 จะได้ฎีกาและขอถอนฎีกาไปแล้ว แต่การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำร่วมกัน ซึ่งเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 4ให้ได้รับผลตามคำพิพากษาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบด้วย มาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา137, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 83 จำเลยที่ 1 กระทำความผิด 3 กรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยจำคุกกรรมละ 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 กระทำผิดกรรมเดียวให้จำคุกคนละ 4 เดือน
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดกรรมเดียวให้จำคุก 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้คู่ความฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15199ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทตามโฉนดดังกล่าวให้แก่โจทก์จำนวน 5 ไร่ ในราคา 2,750,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้รับมัดจำจากโจทก์ไปบางส่วนคงเหลืองวดสุดท้ายเป็นเงิน 1,150,000 บาท ซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 15 มกราคม 2533 อันเป็นวันโอนที่ดินพิพาท เมื่อถึงกำหนดจำเลยที่ 2 ไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ไปคัดค้านการโอนที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินมิให้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินพิพาทให้โจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ทำนาและมีสิทธิซื้อที่ดินก่อนโจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบางน้ำจืดว่าจำเลยที่ 1เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ทำนาและจำเลยที่ 1 คัดค้านการที่จำเลยที่ 2 จะโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เพราะไม่มีหนังสือแสดงความจำนงจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อน เมื่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบางน้ำจืดได้ประชุมสอบถามปากคำจำเลยทั้งสี่และชาวบ้านแล้วมีมติว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เช่าที่ดินพิพาททำนา จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบางน้ำจืด ต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดสมุทรสาคร และคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดสมุทรสาครได้มีมติว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ทำนา โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาทต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 76/2533 แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่า พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 คุ้มครองการเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือว่า มีอายุสัญญาเช่า 6 ปี จำเลยที่ 2ไม่ยอมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงฟ้องเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 475/2533 แล้วตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยที่ 2 ยอมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 และรับเงินไป2,750,000 บาท จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทนี้ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่นายชูชีพ หงษ์มณี ในราคาไร่ละ 1,700,000 บาท
ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3ในปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาขึ้นมาก่อนว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบางน้ำจืด และจำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการดังกล่าวนั้นเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 56 และ 57 เนื่องจากจำเลยที่ 1อ้างว่า จำเลยที่ 2 เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทนำที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 เช่าทำนาไปขายให้แก่โจทก์โดยไม่แจ้งเป็นหนังสือแสดงความจำนงจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ทราบ การที่คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบางน้ำจืดมีมติว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ทำนาเป็นเพียงความเห็นในการรับฟังถ้อยคำของจำเลยทั้งสี่ว่าไม่น่าเชื่อถือ กลับกันคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดสมุทรสาครมีมติว่าจำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2ทำนา ก็เพราะเชื่อถ้อยคำของจำเลยทั้งสี่ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบางน้ำจืด ซึ่งถือว่าเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตามนัยมาตรา 19 วรรคสุดท้ายแห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 โจทก์เองก็อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดสมุทรสาครต่อศาลเพื่อให้พิจารณาคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามที่กฎหมายให้สิทธิไว้ยังมิได้ยุติ แม้จำเลยที่ 1 จะคัดค้านการที่จำเลยที่ 2 จะโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครไม่ยอมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ในที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามที่จำเลยที่ 1 ได้คัดค้านไว้การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็เป็นการใช้สิทธิเพื่อจะดำเนินตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 เพราะมิฉะนั้นจำเลยที่ 2 ก็ต้องโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ ตามพฤติการณ์โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะหลงเชื่อคำของจำเลยที่ 2 มิใช่เพราะเหตุที่จำเลยทั้งสี่ไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบางน้ำจืด โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหาความผิดที่จำเลยทั้งสี่กระทำร่วมกันดังกล่าวซึ่งเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีแม้จำเลยที่ 1 และที่ 4 จะได้ฎีกาและขอถอนฎีกาไปแล้วศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1และที่ 4 ให้ได้รับผลตามคำพิพากษาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share