คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2904/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304(2) นั้นผู้ใดหามีสิทธิครอบครองและมีกรรมสิทธิ์ไม่ คงมีแต่สิทธิดีกว่าผู้อื่น ซึ่งสิทธิดังกล่าวจะมีอยู่ตลอดเวลาที่ครอบครองเท่านั้นเมื่อผู้ครอบครองให้เช่า ที่ดินไปแล้วสิทธิดีกว่าผู้อื่นก็สิ้นไปโดยผู้เช่าย่อมเป็นผู้มีสิทธิดีกว่าผู้อื่นต่อไป.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1278 ร่วมกับผู้มีชื่อ หน้าที่ดินแปลงดังกล่าวมีที่ดินติดริมคลองซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งให้นางบุปผาอุ่นจิตร เช่าปลูกบ้าน ต่อมานางบุปผาได้โอนกรรมสิทธิ์บ้านดังกล่าวให้จำเลย โจทก์ได้แจ้งจำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินของโจทก์แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกไปจากที่พิพาท
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่าที่พิพาทไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง แต่เป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์ไม่มีอำนาจนำที่ดินสาธารณประโยชน์ไปให้ผู้ใดเช่าได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่พิพาทหากจำเลยไม่รื้อถอน ให้โจทก์เป็นผู้จัดการรื้อถอน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของถนนลัดตะนงอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ผู้ใดหามีสิทธิครอบครองและมีกรรมสิทธิไม่ คงมีแต่สิทธิดีกว่าผู้อื่นซึ่งสิทธิดังกล่าวจะมีอยู่ตลอดเวลาที่ครอบครองเท่านั้น เมื่อผู้ครอบครองให้เช่าที่ดินไปแล้วสิทธิดีกว่าผู้อื่นก็สิ้นไปโดยผู้เช่าย่อมเป็นผู้มีสิทธิดีกว่าผู้อื่นต่อไป การที่โจทก์ให้นางบุปผาเช่า จึงเป็นการมอบการยึดถือครอบครองให้แก่นางบุปผาโจทก์ไม่ใช่ผู้ยึดถือที่พิพาทอีกต่อไปแล้ว จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผู้ครอบครองที่พิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่พิพาทอยู่ก่อน ระหว่างเอกชนโจทก์ย่อมมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าผู้อื่นจึงมีสิทธิให้นางบุปผาเช่าได้ และจำเลยผู้รับโอนบ้านไม่มีสิทธิดีกว่านางบุปผา และให้ขับไล่จำเลยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share