คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2903/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ส.เป็นเพียงลูกจ้างขับรถคันที่ถูกจำเลยกระทำละเมิดในกิจการรับขนสินค้าของโจทก์ไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่โจทก์ในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา445โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดประโยชน์จากแรงงานของส. จากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหกล้อหมายเลขทะเบียน 70-1684 สงขลา มีนายสุชิน เจริญพร เป็นลูกจ้างขับรถส่งสินค้าระหว่างหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารประจำทางหมายเลขทะเบียน 10-0184 สงขลา จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ขับรถของจำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2531 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารประจำทางของจำเลยที่ 2 บรรทุกคนโดยสารมุ่งหน้าไปอำเภอสะเดาด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์บรรทุกของโจทก์ที่นายสุชินขับสวนมา เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกของโจทก์พลิกคว่ำตกลงไปในคู เกิดไฟลุกไหม้เสียหายใช้การไม่ได้ทั้งคันรวมทั้งอุปกรณ์ประจำรถต่าง ๆ คิดเป็นเงิน 300,000 บาท สินค้าที่โจทก์รับจ้างบรรทุกมาเสียหายหลายรายการคิดเป็นเงิน 194,780บาท นายสุชินได้รับบาดเจ็บสาหัส โจทก์ได้ชำระค่ารักษาพยาบาลไปเป็นเงิน 8,792 และต้องหยุดพักรักษาตัวทำงานไม่ได้เป็นเวลา 3 เดือน โจทก์ต้องจ่ายเงินเดือนให้ 3 เดือน เป็นเงิน10,500 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 514,072 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน38,555 บาท รวมเป็นเงิน 552,627 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 552,627 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 514,072 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ค่ารักษาพยาบาล เงินเดือนระหว่างการรักษาพยาบาลโจทก์ฟ้องร้องแทนนายสุชินซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทสินทองพัฒนาขนส่งภาคใต้ จำกัด ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน355,280 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้นจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุรถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว นายสุชินไม่ได้ประมาทเลินเล่อด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดด้วย สำหรับค่าขาดประโยชน์จากแรงงานของนายสุชินนั้นตามฟ้องโจทก์ปรากฎว่า นายสุชินเป็นเพียงลูกจ้างขับรถในกิจการรับขนสินค้าของโจทก์เท่านั้น นายสุชินไม่มีความผูกพันตามกฎหมายกับโจทก์ที่จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่โจทก์ในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 445 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้ และเมื่อหนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นหนี้ร่วมอันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาก็ให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วยจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในค่าขาดประโยชน์ดังกล่าว ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 344,780 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share