คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ไม่ได้ระบุขนาดของบาดแผลเพียงแต่ระบุว่า บาดแผลไม่ผ่านเข้าปอด แสดงว่า บาดแผลไม่ได้มีความลึกถึงปอดอันเป็นอวัยวะภายในที่สำคัญอันจะทำให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งบาดแผลดังกล่าวสามารถรักษาหายภายใน 7 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า หลังจากถูกแทงแล้วผู้เสียหายยังสามารถวิ่งไล่จำเลยที่ 1 ไปได้ประมาณ 300 เมตร ซึ่งสนับสนุนให้เห็นว่าบาดแผลของผู้เสียหายไม่ร้ายแรงนักทั้งก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อนเหตุที่เกิดขึ้นก็เป็นเพราะผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วจึงมีการด่าทอและท้าทายกัน ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถึงขนาดจะมีมูลเหตุจูงใจให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดของกลางแทงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า ทั้งผู้เสียหายยังเบิกความว่า จำเลยที่ 1 กับพวกวิ่งหลบหนีไปก่อนที่พวกของผู้เสียหายจะออกมาช่วย แสดงว่า หลังจากจำเลยที่ 1 แทงผู้เสียหายไปเพียง 1 ครั้ง จำเลยที่ 1 ก็วิ่งหนีไปโดยมิได้แทงซ้ำอีกทั้งที่มีโอกาสจะกระทำได้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 80, 83, 91, 288, 371 ริบของกลาง นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 409/2545 หมายเลขแดงที่ 1820/2546 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาพาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 371 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น จำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานพาอาวุธ ปรับ 100 บาท จำเลยที่ 1 รับสารภาพฐานพาอาวุธเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 50 บาท ส่วนฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 50 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1820/2546 ของศาลชั้นต้น ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288 จำเลยที่ 1 อายุ 19 ปี จำเลยที่ 2 อายุ 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุกคนละ 8 ปี คำให้การและทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 5 ปี 4 เดือน สำหรับจำเลยที่ 1 เมื่อรวมกับโทษฐานพาอาวุธ เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน ปรับ 50 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…โจทก์มีผู้เสียหายเพียงปากเดียวที่เบิกความว่า จำเลยที่ 2 เข้ามากอดผู้เสียหายแล้ว จำเลยที่ 1 จึงใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย ซึ่งขัดกับคำเบิกความของนายกลม ประจักษ์พยานอีกปากหนึ่งที่เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ล็อกคอผู้เสียหายแล้วใช้อาวุธมีดแทง ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมทำร้ายผู้เสียหาย เมื่อพิจารณาจากบาดแผลของผู้เสียหายที่ศาลชั้นต้นตรวจดูในชั้นพิจารณา ปรากฏว่ามีแผลเป็นที่บริเวณชายโครงขวา ใต้รักแร้สอดคล้องกับลักษณะการแทงของจำเลยที่ 1 ตามคำเบิกความของนายกลมยิ่งกว่าคำเบิกความของผู้เสียหาย นอกจากนี้ตามคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจพิทักษ์ เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมได้ความว่า ชั้นจับกุมพยานสอบถามจำเลยทั้งสองรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย ความข้อนี้สอดคล้องกับคำเบิกความในชั้นพิจารณาและคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 หาใช่ว่าคำของจำเลยทั้งสองกลับไปกลับมาดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยไม่ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ไม่ได้ระบุขนาดของบาดแผล เพียงแต่ระบุว่าบาดแผลไม่ผ่านเข้าปอด แสดงว่า บาดแผลไม่ได้มีความลึกถึงปอดอันเป็นอวัยวะภายในที่สำคัญอันจะทำให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งบาดแผลดังกล่าวสามารถรักษาหายภายใน 7 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า หลังจากถูกแทงแล้วผู้เสียหายยังสามารถวิ่งไล่จำเลยที่ 1 ไปได้ประมาณ 300 เมตร ซึ่งสนับสนุนให้เห็นว่าบาดแผลของผู้เสียหายไม่ร้ายแรงนัก ทั้งก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อน เหตุที่เกิดขึ้นก็เป็นเพราะผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วจึงมีการด่าทอและท้าทายกัน ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถึงขนาดจะมีมูลเหตุจูงใจให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดของกลางแทงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า ซึ่งในข้อนี้ผู้เสียหายเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองได้ความว่า จำเลยที่ 1 กับพวกวิ่งหลบหนีไปก่อนที่พวกของผู้เสียหายจะออกมาช่วย แสดงว่า หลังจากจำเลยที่ 1 แทงผู้เสียหายไปเพียง 1 ครั้ง จำเลยที่ 1 ก็วิ่งหนีไปโดยมิได้แทงซ้ำอีกทั้งที่มีโอกาสจะกระทำได้ ดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อนี้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share