คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2899/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 การแก้ไขคำฟ้องจะต้องกระทำเสียก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ขอมอบอำนาจช่วงให้ ว. ดำเนินคดีแทน ซึ่งโจทก์มีอำนาจตามกฎหมายอยู่แล้ว และทำเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องก็ได้ ส่วนที่โจทก์ขอแก้คำฟ้องว่าผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อ คือ น. มิใช่ ส. เป็นการแก้ไขให้ตรงต่อความเป็นจริงเพราะโจทก์ผิดหลงพิมพ์ผิดไป เป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงแก้ไขได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ต้องการซื้อรถยนต์แต่ไม่มีเงินพอ จึงให้โจทก์ชำระราคารถยนต์แก่ผู้ขาย แล้วโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์เป็นของโจทก์ จากนั้น โจทก์จึงนำรถยนต์ดังกล่าวมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อ การกระทำดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการทำสัญญาเช่าซื้อเพื่ออำพรางการกู้ยืม
การที่โจทก์ขายทอดตลาดโดยให้บริษัท ส. ซึ่งประกอบกิจการด้านนี้เป็นผู้ดำเนินการ ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการโดยไม่สุจริต ราคารถยนต์ที่ขายได้เป็นการขายตามสภาพที่ยึดมา ทั้งมีการประกาศขายทอดตลาดทางหนังสือพิมพ์ให้บุคคลทั่วไปทราบ และในขณะที่ทำการขายทอดตลาดยังไม่มีกฎหมายหรือประกาศคณะกรรมการ ว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ออกมาใช้บังคับ โจทก์จึงไม่ต้องแจ้งเรื่องการขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบเสียก่อน
ค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าขาดราคา เป็นค่าเสียหายอันสืบเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 มิใช่ค่าเสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 562 เมื่อกฎหมายลักษณะเช่าซื้อมิได้บัญญัติอายุความในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความนั้นเป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจศาลในการใช้ดุลพินิจ โดยพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ รวมถึงความสุจริตในการต่อสู้คดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายฐานผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เป็นเงิน 515,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยเบี้ยปรับร้อยละ 2 ต่อเดือน นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า การขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบและได้ราคาต่ำกว่าเป็นจริง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการขายทอดตลาดที่ได้ราคาต่ำกว่าราคาค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 380,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยเบี้ยปรับร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน โจทก์ไม่ได้แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180 การแก้ไขคำฟ้องจะต้องกระทำเสียก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้ สองสถาน เว้นแต่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ขอมอบอำนาจช่วงให้นายวินัย เจริญจิตสวัสดิ์ ดำเนินคดีแทนซึ่งโจทก์มีอำนาจตามกฎหมายอยู่แล้ว และทำเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องก็ได้ ส่วนที่โจทก์ขอแก้คำฟ้องว่าผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อคือ นางสาวนิตยา อนันตศิริจินดา มิใช่นายสุรเดช ภูมิชัย เป็นการแก้ไขให้ตรงต่อความเป็นจริงเพราะโจทก์ผิดหลงพิมพ์ผิดไปเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงแก้ไขได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับเรื่องนิติกรรมอำพรางนั้น การที่จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์พิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. แต่จำเลยที่ 1 มีเงินไม่เพียงพอจึงต้องหาธุรกิจเช่าซื้อมาช่วยดำเนินการให้ โดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือและ โอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์เป็นของโจทก์ จากนั้นโจทก์จึงนำรถยนต์พิพาทมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อการกระทำดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการทำสัญญาเช่าซื้อเพื่ออำพรางการกู้ยืมเงิน
ปัญหาต่อไปมีว่า การขายทอดตลาดของโจทก์ชอบหรือไม่ และราคาที่ขายได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ขายทอดตลาดโดยให้บริษัทสหการประมูล จำกัด ซึ่งประกอบกิจการด้านนี้เป็นผู้ดำเนินการ ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการโดยไม่สุจริตแต่ประการใด ราคารถยนต์ที่ขายได้เป็นการขายตามสภาพที่ยึดมา ทั้งมีการประกาศขายทอดตลาดทางหนังสือพิมพ์ให้บุคคลทั่วไปทราบ และในขณะที่ทำการขายทอดตลาดยังไม่มีกฎหมายหรือประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ออกมาใช้บังคับ โจทก์จึงไม่ต้องแจ้งเรื่องการขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบเสียก่อน ทั้งราคาที่ขายได้มิได้ต่ำไปกว่าความเป็นจริงดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น…
จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและขอให้ศาลกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมและ ค่าทนายความที่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้เสียใหม่ เห็นว่า ค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าขาดราคา ค่าเสียหายทั้งสองจำนวนเป็นค่าเสียหายอันสืบเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 มิใช่ค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 562 เมื่อกฎหมายลักษณะเช่าซื้อมิได้บัญญัติอายุความในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความนั้นเป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจศาลในการใช้ดุลพินิจ โดยพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ รวมถึงความสุจริตในการต่อสู้คดี ศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจเหมาะสมแล้ว ฎีกาทุกข้อของ จำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน โจทก์ไม่ได้แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share