แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ ระหว่างสอบสวนโจทก์ยื่นใบลาออกจำเลยยังไม่อนุญาตเพราะการสอบสวนยังไม่เสร็จ หลังจากโจทก์ยื่นใบลาออก 5 เดือนจำเลยสั่งพักงานโจทก์และระงับการจ่ายเงินเดือนกับเงินอื่นใดของโจทก์ ต่อมาอีก 6 เดือนก็ย้ายโจทก์ไปสำนักงานใหญ่ พฤติการณ์ดังนี้แสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์จะให้โจทก์ลาออก หากแต่จะเอาตัวโจทก์ไว้สอบสวนหาความผิด ถ้าผิดก็จะลงโทษทางวินัย ใบลาออกของโจทก์จึงสิ้นผลโดยโจทก์ไม่จำต้องถอนใบลานั้น และเมื่อจำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ทางวินัยโดยตัดเงินเดือน 10% ของอัตราที่รอการพิจารณาไว้มีกำหนด 6 เดือน และในคำสั่งฉบับเดียวกันยังอนุญาตให้โจทก์ลาออกนับแต่วันที่จำเลยเริ่มตัดเงินเดือนโจทก์ คำสั่งนี้จึงขัดแย้งกันอยู่ในตัวเพราะหากโจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างไปแล้วจำเลยจะลงโทษโจทก์ได้อย่างไร ดังนี้ การที่จำเลยมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ลาออกย้อนไปถึงวันพักงานจึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์ในวันที่จำเลยมีคำสั่งนั่นเอง เมื่อความผิดของโจทก์มีเพียงถูกตัดเงินเดือน 10% จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลมีอำนาจสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ได้ และจำเลยต้องจ่ายเงินประเภทต่างๆ ระหว่างที่โจทก์ถูกพักงานจนถึงเลิกจ้างด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานในบริษัทจำเลยตั้งแต่ปี 2518เมื่อประมาณกลางปี พ.ศ. 2523 จำเลยได้ตั้งกรรมการสอบสวนกรณีโจทก์บกพร่องในการปฏิบัติงาน ผลการสอบสวนปรากฏว่าโจทก์มีความบกพร่องเล็กน้อย จำเลยมีคำสั่งให้หักเงินเดือนโจทก์ 10% เป็นเวลา 6 เดือน ต่อมาโจทก์ยื่นใบลาออก จำเลยไม่อนุญาตให้โจทก์ลาออก โจทก์ตกลงไม่ลาออก คงปฏิบัติงานไปตามปกติ แล้วจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์และย้ายโจทก์ไปเป็นพนักงานประจำฝ่ายพนักงาน ต่อมาจำเลยมีคำสั่งอนุมัติให้โจทก์ลาออกตามใบลาของโจทก์ที่เคยยื่นไว้ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย เงินเดือนระหว่างที่สั่งพักงาน เงินสะสมร้อยละสิบ เงินโบนัส เงินสะสมแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยตั้งกรรมการสอบสวนการปฏิบัติงานของโจทก์โจทก์ยื่นใบลาออก เนื่องจากต้องรอฟังผลการสอบสวนจำเลยจึงยังมิได้พิจารณาสั่งการเมื่อทราบผลการสอบสวนแล้วจำเลยเห็นว่าโจทก์มิได้ขอยกเลิกใบลาออก จึงได้อนุมัติให้โจทก์ลาออก จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ไม่ต้องจ่ายเงินเดือนเงินโบนัส โจทก์มีสิทธิได้เงินทุนเลี้ยงชีพ (เงินสะสม) ไม่ถึงจำนวนตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย เงินค่าครองชีพเงินทุนเลี้ยงชีพ (เงินสะสม) (ตั้งแต่วันพักงานจนถึงวันเลิกจ้าง) ดอกเบี้ยเงินทุนเลี้ยงชีพ เงินทุนเลี้ยงชีพ (เงินสะสม) ตั้งแต่วันที่โจทก์เข้าทำงานจนถึงวันที่โจทก์ถูกสั่งพักงาน คำขออื่นให้ยก
ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างมีความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษาให้เงินทุนเลี้ยงชีพ (เงินสะสม) ตั้งแต่วันที่โจทก์เข้าทำงานจนถึงวันอนุญาตให้โจทก์ลาออก คำขออื่นควรให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า หลังจากโจทก์ยื่นใบลาออกจากงานแล้ว จำเลยยังให้โจทก์ทำงานและรับเงินเดือนต่อมาอีกประมาณ 5 เดือนจำเลยจึงออกคำสั่งพักงานโจทก์และให้ระงับการจ่ายเงินเดือนและเงินอื่นใดตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2524 ต่อมาจำเลยออกคำสั่งให้ย้ายตำแหน่งโจทก์ไปเป็นพนักงานฝ่ายพนักงานสำนักงานใหญ่ และให้พักงานงดจ่ายเงินประเภทต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2524 เป็นต้นไป พฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวนี้แสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์จะให้โจทก์ลาออก หากแต่ต้องการจะเอาตัวโจทก์ไว้สอบสวนหาความผิด หากมีความผิดก็จะลงโทษทางวินัยตามควรแก่ความผิดนั้น โจทก์มีความประสงค์จะลาออกตั้งแต่วันที่ 31ตุลาคม 2523 ต่อมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปี จำเลยที่ 1 ก็สั่งย้ายโจทก์ไปประจำแผนกอื่น โดยไม่สั่งใบลาออกของโจทก์ และล่วงเลยวันเดือนปีที่โจทก์ประสงค์จะลาออกไปแล้ว ใบลาออกของโจทก์จึงสิ้นผล ไม่เป็นใบลาอีกต่อไป โดยโจทก์ไม่จำต้องถอนใบลานั้นในคำสั่งจำเลยลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2525 ที่สั่งลงโทษทางวินัยโจทก์โดยการตัดเงินเดือน 10% ของอัตราที่รอการพิจารณาไว้มีกำหนด 6 เดือน คำสั่งฉบับเดียวกันนี้จำเลยยังอนุญาตให้โจทก์ลาออกตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2524 อีก จึงเป็นคำสั่งที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัวเอง เพราะ วัน เดือน ปี ที่จำเลยเริ่มตัดเงินเดือนโจทก์ก็เป็นวัน เดือน ปี ที่อนุญาตให้โจทก์ลาออกนั่นเอง หากโจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างไปแล้ว จำเลยจะลงโทษโจทก์ได้อย่างไร เมื่อใบลาออกของโจทก์ไม่มีผลเป็นใบลาอีกต่อไป คำสั่งของจำเลยที่อนุญาตให้โจทก์ลาออกย้อนไปถึงวันสั่งพักงานโจทก์จึงพลอยไม่มีผลใดๆ ไปด้วย การสั่งให้โจทก์ลาออกจากงานเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2525 จึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์นับจากวันดังกล่าวนั่นเอง ความผิดของโจทก์มีเพียงถูกตัดเงินเดือน10% เท่านั้น การที่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ลาออกมาแต่แรกก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยนั่นเอง เมื่อไม่สามารถจะหาประโยชน์จากสภาพความเป็นลูกจ้างของโจทก์ได้แล้ว จะกลับถือประโยชน์จากใบลาออกซึ่งสิ้นผลแล้วของโจทก์มาแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ต้องจ่ายเงินประเภทต่าง ๆ ให้โจทก์อีก จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้คำสั่งของจำเลยที่ให้ระงับการจ่ายเงินประเภทต่าง ๆ แก่โจทก์นั้น มีความหมายเพียงแต่ว่า ไม่มีการจ่ายเงินประเภทต่าง ๆ ให้โจทก์ระหว่างพักงานเท่านั้น ถ้าผลการสอบสวนปรากฏว่าโจทก์มีความผิดร้ายแรงถึงขึ้นเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยก็ไม่ต้องจ่ายเงินบางประเภทแก่โจทก์เป็นผลดีแก่จำเลยมากกว่าจ่ายเงินให้โจทก์ไปก่อนแล้วเรียกคืนในภายหลัง แต่ถ้าผลการสอบสวนปรากฏว่าโจทก์มีความผิดเล็กน้อย มีโทษเพียงถูกตัดเงินเดือน 10% มีกำหนด 6 เดือนเช่นนี้ จำเลยก็มีสิทธิเพียงตัดเงินเดือนโจทก์ 10% มีกำหนด 6 เดือนเท่านั้นแต่จะงดจ่ายเงินทุกประเภทตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับหาได้ไม่
พิพากษายืน