แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาให้ค่าว่าจ้างทนายข้อ 2 มีว่า จ.ผู้ว่าจ้างตกลงให้ค่าว่าจ้างเป็นค่าทนายตอบแทนแก่โจทก์ผู้รับจ้างเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000,000 บาทแต่เนื่องจาก จ.ยากจนไม่มีเงินชำระให้แก่โจทก์ได้ จึงประสงค์ขอยกที่ดินพิพาทตามสัญญาว่าจ้างทนาย ข้อ 1 ชำระแทน โดยขอยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์จำนวน 40 ส่วนของที่ดินและตึกแถวทั้งหมด และหากได้เงินจากคดีดังกล่าวมาเป็นจำนวนเท่าใด จ.ขอแบ่งส่วนได้ให้แก่โจทก์เป็นจำนวนร้อยละ 40 เช่นเดียวกันอีกด้วย ซึ่งที่ดินที่จะแบ่งให้ตามสัญญาข้อ 1 เป็นที่ดินที่ จ.จะได้มาจากการฟ้องร้องคดี จึงเป็นข้อสัญญารับจ้างว่าความโดยวิธีทำสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ จ.ลูกความ เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2508 มาตรา 41 ประกอบ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2477มาตรา 12 (2) ซึ่งใช้บังคับในขณะทำสัญญา จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา113 เดิม ที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญา แม้ต่อมาจะได้มี พ.ร.บ.ทนายความพ.ศ.2528 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2508 แล้ว และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมีบทเฉพาะกาล มาตรา 86 กำหนดให้คณะกรรมการออกข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ มาตรา 53 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยที่ข้อบังคับดังกล่าวมิได้กำหนดเรื่องค่าจ้างว่าความไว้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่เป็นโมฆะมาแต่แรกแล้วกลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้
สัญญาให้ค่าว่าจ้างทนายมีนิติกรรมเพียงอย่างเดียวคือให้นำที่ดินสิ่งปลูกสร้าง และเงินจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทที่จะได้จากการชนะคดีจำนวนร้อยละ 40 มาแบ่งให้แก่โจทก์เป็นค่าจ้างว่าความซึ่งเป็นโมฆะ และไม่มีนิติกรรมส่วนอื่นที่ไม่เป็นโมฆะที่จะแยกออกมาจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา173 ที่แก้ไขใหม่ การที่กองมรดกของ จ.ได้รับเงินจากการขายทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทหลังจาก พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 ใช้บังคับแล้วหาใช่เป็นนิติกรรมที่ใช้ได้แยกออกต่างหากจากสัญญาให้ค่าว่าจ้างทนายซึ่งเป็นโมฆะไม่ และกรณีไม่เข้าลักษณะที่เป็นนิติกรรมอย่างอื่นที่ไม่เป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 174ที่แก้ไขใหม่