คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยนำของกลางซึ่งเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดผ่านเขตแดนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรโดยนำผ่านเขตแดนเข้ามาแล้วแม้ยังไม่ได้ล่วงเลยด่านที่จะต้องเสียภาษีศุลกากรถูกจับเสียก่อน ก็ต้องมีความผิด

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์คันที่บรรทุกของกลางที่จับได้ คือมะนาว 3,300 ผล สาหร่ายทะเลหนัก 3 ก.ก. สุราเฮนเนสซี่ 24 ขวด สุรานโปเลียน 6 ขวด สุราขาว 1 ขวดครึ่งไฟแช๊กโลหะสีเหลือง 432 อัน มาจากตลาดปอยเปต ประเทศกัมพูชาผ่านเขตแดนทางบกระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาตามทางอนุมัติในเวลากลางวันเข้ามาในราชอาณาจักรทางอำเภออรัญญประเทศ ศาลชั้นต้นเห็นว่าของกลางคดีนี้เป็นสินค้าที่ต้องควบคุมตามบัญชีต่อท้าย พระราชบัญญัติการควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 9) 2496 และจำเลยนำเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีมีผิดตาม พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง 2482 มาตรา 3, 9และ พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 3) 2490 มาตรา 3 และเมื่อเป็นของที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายฯ ของกลางจึงเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดตาม พระราชบัญญัติศุลกากร จำเลยนำผ่านเขตแดนเข้ามาแล้วโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร จึงมีผิดตาม พระราชบัญญัติศุลกากร 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) 2490 มาตรา 3 ด้วย จำเลยนำเข้ามาตามทางอนุมัติในเวลากลางวันไม่ผิดพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) 2490 มาตรา 5, 10 กฎกระทรวงฉบับที่ 17 (2492) ออกตาม พระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 7) 2490 โจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดปราจีนบุรี ลงวันที่ 20 มิ.ย. 2497 ห้ามมิให้ขนย้ายสุราต่างประเทศเกินกว่า 2 ขวดเข้ามายังด่านคลองลึก – อรัญญประเทศ ที่อ้างขอให้ลงโทษตาม พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรและจำเลยทราบว่ามีประกาศอยู่หรือเปล่า ลงโทษตาม พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร 2490 มาตรา 8, 17 ไม่ได้ และจำเลยนำสุรามีปริมาณเกินกว่า 1 ลิตรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต จึงผิดตาม พระราชบัญญัติสุรา 2493 มาตรา 6, 35 ด้วย พิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง 2482 มาตรา 3, 9 พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 3) 2490 มาตราอันเป็นบทหนัก

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย

ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นคัดค้านที่มาสู่ศาลฎีกาก็คือจำเลยได้นำของกลางผ่านเส้นเขตแดนแต่ยังไม่ได้ล่วงเลยด่านพรมแดนซึ่งเป็นด่านที่จะต้องเสียภาษีศุลกากรก็ถูกจับเสียก่อนจักมีความผิดหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลทั้งสองฟังต้องกันมาว่า จำเลยนำของกลางซึ่งเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดผ่านเขตแดนเข้ามาโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร เช่นนี้ จำเลยก็ต้องมีความผิด

พิพากษายืน

Share