แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าของรวมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 นั้นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินอันรวมกันอยู่ไม่ทราบว่าส่วนของใครเท่าไร ตรงไหนในทรัพย์นั้นๆ กฎหมายจึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากัน
โฉนดที่ดินมีชื่อบุคคล 2 คนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ แต่ได้จดทะเบียนบรรยายส่วนของใครไว้ในโฉนดแล้วว่าของใครอยู่ตอนไหน เป็นจำนวนเนื้อที่เท่าไรชัดแจ้งแล้วเช่นนี้หาใช่เป็นเจ้าของรวมไม่
เงื่อนไขแห่งนิติกรรมนั้นหมายถึงเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตและ ไม่แน่นอน
สัญญาจะซื้อขายมีข้อตกลงกันว่าผู้ซื้อผู้ขายจะมาทำการโอนซื้อขายกันในวันมาทำการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินนั้น หาใช่เป็นเงื่อนไขไม่
แม้สัญญาจะซื้อขายที่ดินได้ กำหนดเบี้ยปรับกันไว้ในเมื่อผู้ขายผิดสัญญาก็ดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เลือกเรียกเอาเบี้ยปรับหรือเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้แต่อย่างหนึ่งอย่างใดได้ ฉะนั้นถ้าผู้ขายทำผิดสัญญาโดยไม่ยอมขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อผู้ซื้อก็ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องผู้ขายขอให้ศาลบังคับให้โอนขายตามสัญญาได้(อ้างฎีกาที่ 131/2489)