แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าทุเรียน โดยทั้งสองฝ่ายคาดว่าสินค้าจะถึงดินแดนไต้หวันไม่เกินวันที่ 25 มีนาคม 2543 แต่เรือที่ใช้ขนส่งสินค้าเกิดขัดข้องกลางทางไม่สามารถเดินทางต่อได้ จึงขนส่งสินค้าพิพาทกลับและมีการสำรวจความเสียหายเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2543 หลังจากนั้นโจทก์และจำเลยที่ 1 เจรจาเรื่องค่าเสียหายกันเรื่อยมาโดยมีหนังสือโต้ตอบกัน หนังสือของจำเลยที่ 1 ที่มีถึงโจทก์ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 ตามเอกสารหมาย จ. 7 มีเนื้อความว่า ” ยินยอมให้ขยายเวลาออกไป 3 เดือน จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2544″ จากพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าหนังสือของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ. 7 ทำขึ้นก่อนระยะเวลา 1 ปี นับแต่เวลาอันควรส่งมอบสินค้าพิพาทสิ้นสุดลง โดยทำขึ้นเพื่อให้มีผลบังคับผูกพันกันได้จริง ดังนั้น การตีความการแสดงเจตนานั้นตาม ป.พ.พ มาตรา 171 ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษร จึงแปลเจตนาอันแท้จริงได้ว่าประสงค์จะให้มีผลเป็นหนังสือยินยอมว่าจะไม่ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลภายในวันที่ 25 มิถุนายน 2544 และความยินยอมนี้ใช้บังคับกันได้ตาม พ.ร.บ. รับขนของทางทะเล ฯ มาตรา 47 ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ขาดอายุความ
ตามใบตราส่งระบุว่าสินค้าพิพาทที่ขนส่งเป็นทุเรียนสด จำนวน 1,260 กล่อง อันเป็นการระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่ง ดังนี้ จึงต้องถือว่าสินค้าพิพาทที่ขนส่งมีจำนวนหน่วยการขนส่ง 1,260 หน่วย เมื่อคำนวณข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง เป็นเงิน 12,600,000 บาท สูงกว่าการคำนวณตามน้ำหนักสินค้า 30 บาท ต่อน้ำหนักสุทธิ 1 กิโลกรัม โดยสินค้าพิพาทตามใบตราส่งมีน้ำหนักสุทธิ 13,860 กิโลกรัม คิดเป็นเงินเพียง 415,800 บาท ต้องถือจำนวนข้อจำกัดความรับผิดจำนวนที่สูงกว่า แต่เมื่อความเสียหายของโจทก์มีเพียง 263,755.56 บาท ต่ำกว่าจำนวนเงินที่พึงจำกัดความรับผิดได้ตามกฎหมาย จึงต้องถือเอาตามความเสียหายนั้นตามมาตรา 58 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 263,755.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยในหนี้เงินนี้อัตราร้อยละ 7.5 นับแต่วันฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินใช้ค่าเสียหายตามสัญญารับขนของทางทะเลจำนวน 1,088,854.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 ถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 7 เป็นกรณีที่ฝ่ายที่ถูกเรียกร้องในข้อพิพาทเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเลยินยอมโดยทำหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ถูกเรียกร้องว่าจะไม่ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ในกรณีที่ฝ่ายที่มีสิทธิเรียกร้องฟ้องคดีต่อศาล ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุพิพาท โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าทุเรียนหลายครั้ง การขนส่งสินค้าพิพาทเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2543 โดยทั้งสองฝ่ายคาดว่าสินค้าจะถึงดินแดนไต้หวันไม่เกินวันที่ 25 มีนาคม 2543 แต่เรือที่ใช้ขนส่งเครื่องยนต์ขัดข้องกลางทางไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ จึงขนสินค้าพิพาทกลับมาและมีการสำรวจความเสียหายเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2543 หลังจากนั้นโจทก์และจำเลยที่ 1 เจรจาเรื่องค่าเสียหายกันเรื่อยมาโดยมีหนังสือโต้ตอบกันด้วย หนังสือของจำเลยที่ 1 ที่มีถึงโจทก์ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 ตามเอกสารหมาย จ. 7 นั้น เป็นหนังสือที่นายศุภชัยพนักงานของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายสินไหมทดแทนซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการพิจารณาชดใช้หรือเรียกร้องค่าเสียหายต่าง ๆ แทนบริษัทจำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยนายศุภชัยเองก็เบิกความยอมรับว่าได้ทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ. 7 ไว้จริง เนื้อความในหนังสือดังกล่าวนั้นเป็นการตอบหนังสือของโจทก์ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 โดยระบุว่า “ยินยอมให้ขยายเวลาออกไป 3 เดือน จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2544” จากพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าหนังสือของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ. 7 ทำขึ้นก่อนระยะเวลา 1 ปี นับแต่เวลาอันควรส่งมอบสินค้าพิพาทสิ้นสุดลง โดยพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้ภายหลังจากที่มีข้อพิพาทกับโจทก์ที่ทำการค้าติดต่อให้บริการกันมาหลายครั้งแล้ว จึงเชื่อได้ว่าทำขึ้นด้วยเจตนาอันแท้จริงของจำเลยที่ 1 เพื่อให้มีผลบังคับผูกพันกันได้จริง ดังนั้น เมื่อการตีความการแสดงเจตนานั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษร จึงแปลเจตนาอันแท้จริงได้ว่าประสงค์จะให้มีผลเป็นหนังสือยินยอมว่าจะไม่ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลภายในวันที่ 25 มิถุนายน 2544 ความยินยอมดังกล่าวย่อมใช้บังคับกันได้โดยผลของมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 25 มิถุนายน 2544 ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายและจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า ตามใบตราส่งระบุว่าสินค้าพิพาทที่ขนส่งเป็นทุเรียนสด จำนวน 1,260 กล่อง อันเป็นการระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่ง ดังนี้ จึงต้องถือว่าสินค้าพิพาทที่ขนส่งมีจำนวนหน่วยการขนส่ง 1,260 หน่วย เมื่อคำนวณข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง เป็นเงิน 12,600,000 บาท สูงกว่าการคำนวณตามน้ำหนักสินค้า 30 บาท ต่อน้ำหนักสุทธิ 1 กิโลกรัม โดยสินค้าพิพาทตามใบตราส่งมีน้ำหนักสุทธิ 13,860 กิโลกรัม คิดเป็นเงินเพียง 415,800 บาท ต้องถือจำนวนข้อจำกัดความรับผิดจำนวนที่สูงกว่า แต่เมื่อความเสียหายของโจทก์มีเพียง 263,755.56 บาท ต่ำกว่าจำนวนเงินที่พึงจำกัดความรับผิดได้ตามกฎหมาย จึงต้องถือเอาตามความเสียหายนั้นตามมาตรา 58 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 263,755.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยในหนี้เงินนี้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องตามวันเริ่มคิดดอกเบี้ยที่โจทก์ขอ จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันในความเสียหายของสินค้าพิพาทตามกรมธรรม์ประกันภัยในวงเงิน 420,932.56 บาท เมื่อความเสียหายของโจทก์ไม่เกินวงเงินดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายของโจทก์ด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปว่าโจทก์เพิ่มวงเงินประกันภัยกับจำเลยที่ 2 โดยสุจริตหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 263,755.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2544 ซึ่งเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาท.