คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2885/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนมีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 ต้องไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่ แต่ในคดีนี้มีประเด็นว่า โจทก์ชอบที่จะขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่ นอกจากนี้แล้วโจทก์ก็เพียงแต่ยื่นคำร้องสอดเพื่อขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีก่อน แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ฉะนั้นโจทก์จึงเป็นบุคคลภายนอก ไม่มีฐานะเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วคู่ความเดียวกันมารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ทั้งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 ด้วย
การยินยอมให้ผู้เป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนเจ้าของรวมคนอื่นไว้นั้น เป็นความตกลงที่บุคคลสามารถกระทำได้ด้วยไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อของตน แม้จะเป็นด้วยเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม การกระทำเช่นว่านั้นก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นโมฆะ ดังนั้น หากโจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทคนหนึ่ง และจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งนำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปทำสัญญาจะซื้อจะขายแก่จำเลยที่ 2โดยโจทก์มิได้ยินยอม โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทได้
โจทก์ได้อ้างส่งบันทึกเกี่ยวกับการแบ่งส่วนที่ดินต่อศาล แม้เป็นสำเนาเอกสาร แต่เจ้าพนักงานศาลก็ได้รับรองสำเนาถูกต้องแล้ว และในเวลาต่อมาโจทก์ก็ได้ส่งต้นฉบับต่อศาลชั้นต้นด้วย กรณีจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 ส่วนการพิสูจน์ว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงหรือปลอมนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการนำสืบแสดงของคู่ความ
การพิสูจน์ว่าผู้ซึ่งไม่มีชื่อในโฉนดที่ดินเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารแสดง จึงหาอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ไม่ โจทก์จึงนำสืบพยานบุคคลได้
จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาททั้งแปลงรวมทั้งส่วนของโจทก์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยที่โจทก์และเจ้าของรวมคนอื่นไม่ทราบเรื่องและมิได้ให้ความยินยอมด้วย สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสองอีกทั้งคดีนี้ก็เป็นกรณีโจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมมาแต่แรก แต่ลงชื่อจำเลยที่ 1ถือกรรมสิทธิแทนเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องการได้อสังหาริมทรัพย์มาโดยการมาตกลงให้ถือกรรมสิทธิ์รวมในภายหลังอันจะต้องตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่งที่จะต้องมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนและการที่โจทก์และเจ้าของรวมคนอื่นเพียงแต่ตกลงยินยอมให้ลงชื่อจำเลยที่ 1ผู้เดียวในโฉนดที่ดินพิพาทโดยมิได้มีพฤติการณ์อื่นใดอีกนั้น ย่อมไม่อาจถือว่าเป็นการเชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันทำสัญญาดังกล่าวโจทก์ก็มิได้ร่วมอยู่ด้วย ฉะนั้น โจทก์จึงมิใช่ตัวการที่จะต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินส่วนของโจทก์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีอำนาจกระทำได้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ นายผดุงศักดิ์ เทพพัตรา นายจรูญ เทพพัตราและจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 2169 ตำบลบึงลาดสวาย (คลองหกวาล่างเหนือ) อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) เนื้อที่ 6 ไร่ 98 ตารางวา โดยโจทก์มีกรรมสิทธิ์ 3 ใน 7 ส่วน แต่ในขณะซื้อที่ดินดังกล่าวโจทก์และเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าวได้ลงชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคนรวมทั้งโจทก์ ทำให้โจทก์และเจ้าของรวมคนอื่นเสียหายขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม 2530

จำเลยที่ 1 ให้การว่า แม้โจทก์จะเป็นเจ้าของรวมและมิได้ให้ความยินยอมในการขาย จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิทำสัญญาจะซื้อจะขายให้มีผลเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายให้กระทบถึงสิทธิของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า บันทึกข้อตกลงการเป็นเจ้าของรวมฉบับลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2524 ตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม โจทก์มิได้เป็นเจ้าของรวมโดยชอบด้วยกฎหมายเพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่มีอำนาจฟ้องสิทธิของโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี แล้ว เพราะโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 10 ปีนับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2524 และที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ให้จำเลยที่ 1ถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์เท่ากับโจทก์เชิดหรือยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน โจทก์จึงปฏิเสธความรับผิดต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม 2530 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของโจทก์จำนวน 3 ใน 7 ส่วน คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นประการแรกว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 389/2531หมายเลขแดงที่ 495/2531 ของศาลจังหวัดธัญบุรีหรือไม่ เห็นว่าประเด็นในคดีทั้งสองแตกต่างกัน กล่าวคือ ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 389/2531 หมายเลขแดงที่ 495/2531 ของศาลจังหวัดธัญบุรี มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 ต้องไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ (จำเลยที่ 2 คดีนี้) หรือไม่แต่ในคดีนี้มีประเด็นว่าโจทก์ชอบที่จะขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่ นอกจากนี้แล้วโจทก์ก็เพียงแต่ยื่นคำร้องสอดเพื่อขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 389/2531 หมายเลขแดงที่ 495/2531 ของศาลจังหวัดธัญบุรีแต่ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว คงมีฐานะเป็นบุคคลภายนอกเท่านั้น กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลได้คำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วคู่ความเดียวกันมารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ทั้งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ด้วย

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า โจทก์ชอบที่จะขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทได้หรือไม่ ในข้อนี้จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่าการที่โจทก์กับพวกร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทแต่ให้จำเลยที่ 1 ผู้เดียวมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนเพื่อป้องกันมิให้เจ้าหนี้ของโจทก์ยึดที่ดินพิพาทไป หากการค้าของโจทก์กับพวกมีปัญหา เป็นการกระทำที่มีเจตนาฉ้อฉลทำขึ้นเพื่อปกปิดนิติกรรมที่แท้จริงจึงเป็นโมฆะ โจทก์ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต และไม่อาจขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทได้ เห็นว่า การยินยอมให้ผู้เป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนเจ้าของรวมคนอื่นไว้นั้น เป็นความตกลงที่บุคคลสามารถกระทำได้ด้วยไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อของตน แม้จะเป็นด้วยเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม การกระทำเช่นว่านั้นก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นโมฆะ ดังนี้ หากโจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทคนหนึ่ง และจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งนำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปทำสัญญาจะซื้อจะขายแก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้ยินยอม โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท ซึ่งในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเจ้าของรวมโจทก์และนายจรูญเทพพัตราเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งก็เบิกความตรงกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมอยู่3 ใน 7 ส่วน และมีการทำบันทึกระหว่างเจ้าของรวมกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.5และ จ.6 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า โจทก์อ้างส่งเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเป็นบันทึกเกี่ยวกับการแบ่งส่วนที่ดินรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่ได้ส่งต้นฉบับเอกสารทำให้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงหรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์ได้อ้างส่งเอกสารหมาย จ.5 ต่อศาล แม้เป็นสำเนาเอกสาร แต่เจ้าพนักงานศาลก็ได้รับรองสำเนาถูกต้องแล้ว และในเวลาต่อมาโจทก์ก็ได้ส่งต้นฉบับต่อศาลชั้นต้นด้วยกรณีจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 93 ส่วนการพิสูจน์ว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงหรือปลอมนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการนำสืบแสดงของคู่ความ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่า มีการทำเอกสารดังกล่าวจริง โดยมีนายจรูญ เทพพัตรา เบิกความสนับสนุน ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบพยานในข้อนี้เพียงแต่เบิกความลอย ๆ ว่าเอกสารหมาย จ.5 เป็นเอกสารปลอมที่โจทก์กับพวกคบคิดกันทำขึ้นเท่านั้น โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาประกอบพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่พอฟังว่าเอกสารหมาย จ.5 เป็นเอกสารปลอมและจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การนำสืบพยานบุคคลของโจทก์ในข้อที่เกี่ยวกับผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น เห็นว่า เป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 คือไม่ตกอยู่ในข้อห้ามที่จะนำพยานบุคคลมาสืบว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก กรณีนี้ย่อมสามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ เพราะการพิสูจน์ว่าผู้ซึ่งไม่มีชื่อในโฉนดที่ดินเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมามีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท 3 ใน 7 ส่วนจริง ส่วนปัญหาว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น ตามคำเบิกความของโจทก์และนายสมเกียรติได้ความตรงกันว่า ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทดังกล่าวนั้นมีการปิดบังโจทก์โจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมแต่อย่างใด จำเลยก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ในวันทำสัญญาดังกล่าวไม่พบโจทก์ จึงเจือสมกับพยานโจทก์ดังกล่าวมา น่าเชื่อว่าโจทก์ไม่ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้ยินยอม ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าเอกสารหมาย จ.5 เป็นบันทึกเกี่ยวกับการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทเป็นเอกสารที่โจทก์กับพวกทำขึ้นเองและยังไม่ได้จดทะเบียน เป็นเอกสารที่ไม่บริบูรณ์ ไม่สามารถขึ้นอ้างยันบุคคลภายนอกได้ และโจทก์เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ทั้งโจทก์ไม่ใช่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 จึงไม่สามารถฟ้องขอให้เพิกถอนหรือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ได้นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้แล้วว่า จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาททั้งแปลงรวมทั้งส่วนของโจทก์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยที่โจทก์และเจ้าของรวมคนอื่นไม่ทราบเรื่องและมิได้ให้ความยินยอมด้วยสัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสอง และข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็เป็นกรณีโจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมมาแต่แรก แต่ลงชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แทนเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องการได้อสังหาริมทรัพย์มาโดยการมาตกลงให้ถือกรรมสิทธิ์รวมในภายหลังอันจะต้องตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ที่จะต้องมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในฎีกา ทั้งการที่โจทก์และเจ้าของรวมคนอื่นเพียงแต่ตกลงยินยอมให้ลงชื่อจำเลยที่ 1 ผู้เดียวในโฉนดที่ดินพิพาทโดยมิได้มีพฤติการณ์อื่นใดอีกนั้น ย่อมไม่อาจถือว่าเป็นการเชิดจำเลยที่ 1เป็นตัวแทนในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันทำสัญญาดังกล่าวโจทก์ก็มิได้ร่วมอยู่ด้วย ฉะนั้นโจทก์จึงมิใช่ตัวการที่จะต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินส่วนของโจทก์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีอำนาจกระทำได้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2524 อันเป็นวันทำบันทึกกรรมสิทธิ์รวมนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองซึ่งทำเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2530 นับถึงวันฟ้องวันที่ 4 พฤษภาคม 2535 ไม่ถึง 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ

พิพากษายืน

Share