คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2881/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นกรมในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ตามประทานบัตร การฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ตามประทานบัตรที่ค้างชำระจึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องได้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไม่จำต้องมอบอำนาจให้ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 55 จำเลยซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ตามประทานบัตรเป็นรายปีค่าธรรมเนียมนั้นกฎหมายให้เรียกเก็บตามกฎกระทรวงอันหมายถึงกฎกระทรวงที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเรียกเก็บปีใดกฎกระทรวงฉบับใดใช้บังคับอยู่จำเลยต้องชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กฎกระทรวงฉบับนั้นกำหนดไว้ จำเลยยกอายุความเรื่องเช่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 563 ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ แต่ฎีกาโดยยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งแก้ไขใหม่เป็นมาตรา 193/30 ขึ้นฎีกา จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 เงินค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ตามประทานบัตรที่ค้างชำระเป็นหนี้เงิน โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ดอกเบี้ยค้างชำระส่วนที่เกิน 5 ปี นับจากวันฟ้องย้อนหลังไปขาดอายุความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 ซึ่งแก้ไขใหม่เป็นมาตรา 193/33

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ตามประทานบัตรให้โจทก์เป็นเงิน 80,217.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ประทานบัตรการทำเหมืองเป็นสัญญาหรือข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกับผู้ที่ได้รับประทานบัตร โจทก์มีหน้าที่เพียงตรวจสอบดูแลให้ผู้ถือประทานบัตรปฎิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงในประทานบัตรเท่านั้นการที่จำเลยผิดสัญญาหรือข้อตกลงอันเกี่ยวกับประทานบัตรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจึงถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิโดยตรงโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลโดยมิได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ความรับผิดในค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ตามประทานบัตรของจำเลยต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำเหมืองตามกฎกระทรวงและอื่น ๆ ที่ใช้ในขณะที่จำเลยขอประทานบัตรและในขณะได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ถือประทานบัตรคือปี 2516 เท่านั้น ประทานบัตรเป็นสัญญาเช่า ภายหลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพิกถอนประทานบัตรเมื่อวันที่8 กรกฎาคม 2530 จำเลยได้ส่งมอบพื้นที่เขตประทานบัตรให้แก่โจทก์แล้ว การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยต่อศาลเกี่ยวกับสัญญาเช่าหรือข้อตกลงตามประทานบัตรเมื่อพ้น 6 เดือน แล้วจึงขาดอายุความโจทก์ไม่มีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ตามประทานบัตรซึ่งเป็นค่าเช่าที่ค้างส่งเกินกว่า 5 ปี ตั้งแต่ปี 2515-2525 สิทธิในการคิดค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ตามประทานบัตรหรือค่าเช่าค้างส่งของโจทก์จึงขาดอายุความ ดอกเบี้ยที่ค้างส่งตั้งแต่ปี 2515-2525 ของต้นเงินในแต่ละปีเป็นดอกเบี้ยค้างส่งเกินกว่า 5 ปี ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน80,217.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน51,658.48 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นข้อแรกที่จะวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยเป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการให้ประทานบัตรตรวจสอบดูแลการทำเหมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย ตลอดจนมีหน้าที่ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ตามประทานบัตรและหนี้สินต่าง ๆ ที่ผู้ได้รับประทานบัตรค้างชำระแก่โจทก์ การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ตามประทานบัตรที่จำเลยค้างชำระจึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่โจทก์มีอยู่ โจทก์มีอำนาจฟ้องได้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไม่จำต้องมอบอำนาจให้แต่อย่างใดฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นข้อที่สองมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ตามประทานบัตรเพิ่มขึ้นตามกฎกระทรวงฉบับที่ 22(พ.ศ. 2516) ฉบับที่ 34 (พ.ศ. 2521) ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2523)หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 55จำเลยผู้ถือประทานบัตรมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ตามประทานบัตรเป็นรายปี สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมนั้นกฎหมายให้เรียกเก็บตามกฎกระทรวงอันหมายถึงกฎกระทรวงที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเรียกเก็บ ทั้งนี้เพราะกฎกระทรวงฉบับใดที่ยกเลิกไปแล้วย่อมถูกยกเลิกทั้งฉบับ ซึ่งรวมทั้งอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับนั้นด้วย ปีใดกฎกระทรวงฉบับใดใช้บังคับอยู่ จำเลยต้องชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กฎกระทรวงฉบับนั้นกำหนดไว้ ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ตามประทานบัตรเพิ่มขึ้นตามกฎกระทรวงฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2516) ฉบับที่ 34(พ.ศ. 2521) และฉบับที่ 45 (พ.ศ. 2523) ตลอดระยะเวลาที่กฎกระทรวงดังกล่าวแต่ละฉบับใช้บังคับ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ประเด็นข้อสุดท้ายมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าตามคำให้การของจำเลย จำเลยให้การว่าโจทก์นำคดีเกี่ยวกับสัญญาเช่ามาฟ้องเมื่อพ้น 6 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จากคำให้การดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยยกอายุความเรื่องเช่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 ซึ่งมีกำหนด 6 เดือนขึ้นมาต่อสู้คดีโจทก์ แต่ในชั้นฎีกาจำเลยกลับยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งแก้ไขใหม่เป็นมาตรา 193/30 อันมีกำหนด 10 ปี ขึ้นมาฎีกา ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและพิพากษาภาค 2ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยค้างส่งเกิน5 ปี นับแต่วันฟ้องนั้น เห็นว่า เงินค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ตามประทานบัตรที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์เป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยจากเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระ ดังนั้นส่วนที่เกิน 5 ปี นับจากวันฟ้องย้อนหลังไปจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 166 ซึ่งแก้ไขใหม่เป็นมาตรา 193/33 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน51,658.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเฉพาะดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องให้จำเลยชำระไม่เกิน 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share