คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2881/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาจะขายที่พิพาทให้โจทก์ โดยปกปิดความจริงไม่บอกให้โจทก์ทราบว่ายังมีสิ่งปลูกสร้างของผู้อื่นอยู่บนที่ดินดังกล่าว ต่อมาเจ้าของสิ่งปลูกสร้างได้คัดค้านการโอนและจำเลยไม่สามารถทำความตกลงกับเจ้าของสิ่งปลูกสร้างได้จนไม่สามารถโอนที่พิพาทให้โจทก์ตามสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องคืนเงินมัดจำและใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินจากจำเลย ได้วางมัดจำไว้ ต่อมาจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา จำเลยไม่ยอมคืนมัดจำให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยคืนมัดจำและใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงได้ริบมัดจำขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยคืนมัดจำ600,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย และใช้ค่าเสียหาย 300,000บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดที่ 23124ตำบลบางพลัด อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ในราคา 6,000,000บาท ได้วางมัดจำไว้ 600,000 บาท กำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันวันที่ 14 กรกฎาคม 2524 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 เมื่อถึงกำหนดวันโอนโจทก์จำเลยได้ยื่นเรื่องราวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 แต่ไม่สามารถทำนิติกรรมโอนที่ดินได้ เพราะมีคำร้องคัดค้านของนายจิตใส พึ่งขำ กับพวก อ้างว่าสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่จะขายเป็นกรรมสิทธิ์ของนายจิตใสกับพวก ขอให้ระงับการทำนิติกรรม ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 เจ้าพนักงานที่ดินได้บันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.8 ว่า โจทก์ได้ทราบข้อเท็จจริงตามหลักฐานที่นายจิตใสกับพวกได้แจ้งเจ้าพนักงานที่ดินตามหนังสือลงวันที่13 กรกฎาคม 2524 ในวันนี้ จึงขอเลื่อนการดำเนินการจดทะเบียนไปต่อมาปรากฏว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาของนายจิตใสกับพวกได้ จึงไม่ได้โอนที่ดินกัน ปัญหาคงมีว่า ที่โอนที่ดินกันไม่ได้นั้น เป็นความผิดของฝ่ายใด จำเลยนำสืบว่า ที่พิพาทเดิมบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เช่ามาจากนายประสิทธิ์ซึ่งเป็นผู้เช่าจากเจ้าของที่ดิน สามีจำเลยได้ขอเช่าที่ดินจากบริษัทเชลล์ฯ เพื่อทำที่จอดรถและโรงซ่อมรถตั้งแต่ พ.ศ. 2517 บริษัทเชลล์ฯ ให้จำเลยเช่าและแจ้งแก่จำเลยว่าสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเป็นของบริษัทเชลล์ฯ ตามอายุสัญญาเช่าคือ 15 ปี ระหว่างนั้นเจ้าของที่ดินได้โอนที่ดินให้บุตร 6 คน บุตร 3 คน ได้รวมที่ดินครึ่งหนึ่งขายแก่จำเลย ไม่ได้ขายสิ่งปลูกสร้าง จดทะเบียนการซื้อขายกัน เมื่อเดือนมีนาคม 2520 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 จากการนำสืบของจำเลยดังกล่าวแสดงว่า จำเลยทราบดีว่าที่ดินนั้นมีสิ่งปลูกสร้างของผู้อื่นอยู่ด้วย โจทก์นำนายจิตใส พึ่งขำ มาเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อจำเลยซื้อที่ดินพิพาทแล้วได้ไปขอแบ่งแยกจากแปลงใหญ่เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 23124 พยานทราบว่าจำเลยจะโอนขายที่พิพาทให้โจทก์ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2524 สามีจำเลยบอกให้พยานรื้อสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน โดยจะให้ค่ารื้อถอน 30,000 บาทแต่พยานกับพี่น้องไม่ยอม ต้องการค่าทดแทน 600,000 บาท สามีจำเลยไม่ยอมให้ พยานจึงให้ทนายความไปคัดค้านที่สำนักงานที่ดินตามเอกสารหมาย จ.7 และมีบันทึกของเจ้าพนักงานที่ดินตามเอกสารหมาย จ.8 ว่าโจทก์ทราบการคัดค้านของนายจิตใสในวันทำการซื้อขาย โจทก์จำเลยโต้เถียงกันว่าฝ่ายใดเป็นผู้ติดต่อกับนายจิตใส เมื่อฟังคำเบิกความของนายจิตใสที่ว่าสามีจำเลยเคยติดต่อให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างโดยจะให้เงิน 30,000 บาท และยังได้ความด้วยว่าจำเลยได้จำนองที่พิพาทกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด เป็นเงิน4,500,000 บาท จำเลยต้องการขายกิจการรถทัวร์ของจำเลยและจะไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยคงต้องการขายที่พิพาทเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ เมื่อมีผู้มาขอซื้อก็ต้องการขายโดยปกปิดความจริงไม่บอกให้โจทก์ผู้ซื้อทราบว่ายังมีสิ่งปลูกสร้างของผู้อื่นอยู่บนที่พิพาทนี้ และเมื่อถึงวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อ นายจิตใสกับพวกซึ่งเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างได้มาคัดค้านการโอน และจำเลยไม่สามารถทำความตกลงกับนายจิตใสกับพวกได้ จนไม่สามารถโอนที่พิพาทให้โจทก์ตามสัญญาจึงต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำต้องคืนเงินมัดจำและใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ สำหรับค่าเสียหายตามประเด็นข้อที่สองนั้นเมื่อกำหนดไว้ตามสัญญาเป็นเงิน 600,000 บาท จำเลยมิได้ฎีกาว่าโจทก์ไม่เสียหายหรือเสียหายน้อยกว่านั้นอย่างไร จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญา แต่โจทก์ขอมาเพียง 300,000 บาทนับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยอยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลจะลดลงไปอีกที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share