คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 288/2554

แหล่งที่มา :

ย่อสั้น

เมื่อพิจารณาคำเบิกความพยานโจทก์ประกอบกับรอยห้ามล้อยาวถึง 20.30 เมตร และความเสียหายของรถยนต์ที่จำเลยขับซึ่งได้รับความเสียหายตรงบริเวณกันชนด้านขวามือผู้ขับยุบไปค่อนข้างมากแล้ว เชื่อว่าจำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงเกินสมควรซึ่งการขับรถด้วยความเร็วสูงมาถึงทางร่วมทางแยกก็มิได้ลดหรือชะลอความเร็วของรถให้ช้าลง เป็นการขับรถโดยประมาทอย่างหนึ่ง แต่เหตุที่จำเลยห้ามล้อไม่น่าจะเกิดจากการที่จำเลยหักหลบหลุมตรงบริเวณปากทางแยกเป็นสำคัญ เพราะตามภาพถ่ายหมาย จ.5 สำนวนหลัง เห็นได้ชัดว่าหลุมดังกล่าวล้ำเข้ามาในผิวจราจรของช่องเดินรถที่จำเลยขับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหลบหลุมถึงขนาดล้ำเข้าไปในช่องเดินรถสวน เชื่อว่าเหตุที่จำเลยขับล้ำเข้าไปในช่องเดินรถสวนเพราะหักหลบรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับตัดหน้า จุดชนอยู่ตรง ๆ กับปากทางแยก ชนถูกรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับตรงฝาครอบแบตเตอรี่ขวามือผู้ตาย น่าเชื่อว่าผู้ตายยังมิได้ตั้งลำรถจักรยานยนต์ในช่องเดินรถที่ตนจะเข้าไป ทั้งตามคำเบิกความของ อ. ก็ได้ความว่า เมื่อ อ. และผู้ตายขับรถมาถึงปากทางแยก อ. เห็นรถยนต์ที่จำเลยขับแล่นมาอยู่ห่างรถที่ อ. ขับ 30 ถึง 40 เมตร อ. จึงหยุดตรงปากทางแยก ไม่ขับออกไปในถนนที่เกิดเหตุ แต่ผู้ตายขับออกไปจึงถูกรถยนต์ที่จำเลยขับมาชน เห็นได้ว่าถ้าผู้ตายระมัดระวังโดยยังไม่ขับออกไปเหมือน อ. ก็จะไม่ถูกจำเลยขับรถยนต์ชน ยิ่งกว่านั้นตามคำเบิกความของ ถ. จ. และ ท. พยานโจทก์ทั้งสองที่เบิกความว่าผู้ตายขับในลักษณะพุ่งออกไปอันเป็นลักษณะของการขับรถออกไปอย่างรวดเร็ว เมื่อจำเลยเห็นจึงห้ามล้อตั้งแต่อยู่ห่าง 20 ถึง 30 เมตร พฤติการณ์เช่นนี้ แม้จุดชนอยู่ห่างจากเส้นแบ่งช่องเดินรถประมาณ 1.40 เมตร ดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกา ก็ไม่เป็นข้อบ่งชี้ว่า ผู้ตายมิได้ประมาทที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าทั้งผู้ตายและจำเลยต่างขับรถโดยประมาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย เมื่อผู้ตายก็เป็นผู้ขับรถโดยประมาท ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายและไม่มีอำนาจฟ้องซึ่งรวมทั้งไม่มีอำนาจฟ้องอุทธรณ์ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 5 (2) และ 3 (2) เมื่อไม่มีอำนาจฟ้องฎีกา ก็ไม่อาจขอให้ไม่รอการลงโทษดังที่ฎีกาขึ้นมาด้วย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
สำนวนแรก โจทก์ที่ 1 ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 71, 72, 157
สำนวนหลัง โจทก์ที่ 2 ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องสำนวนหลังว่า เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2
โจทก์ที่ 2 และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ให้คุมประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 2 และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 และจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 ว่า โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาว่าผู้ตายขับรถโดยประมาทหรือไม่ และมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยขับรถโดยประมาทหรือไม่ โจทก์ที่ 2 ฎีกาว่าเหตุที่จำเลยขับรถมาชนเพราะจำเลยขับมาด้วยความเร็วสูงแล้วหักหลบหลุมที่ปากทางแยกดังกล่าว ชนขณะที่ผู้ตายขับเข้าช่องเดินรถที่ผู้ตายจะขับไปทางอำเภอบ้านหมี่แล้วโดยเห็นได้จากจุดชนอยู่ในช่องเดินรถที่ผู้ตายขับ อยู่ห่างจากเส้นแบ่งช่องเดินรถประมาณ 1.40 เมตร ไม่ใช่จำเลยหักหลบรถที่ผู้ตายขับตัดหน้าแต่อย่างใด ส่วนจำเลยฎีกาว่า เหตุเกิดเพราะจำเลยหักหลบรถที่ผู้ตายขับตัดหน้าอย่างกะทันหัน ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยประมาทโดยขับรถด้วยความเร็วสูงนั้น พยานโจทก์ทั้งสองมีนายเจริญ นายถวัลย์ นายสมจิตรและนายสำราญ เบิกความว่า จำเลยขับด้วยความเร็วประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนนายอุดม พยานโจทก์ทั้งสองอีกปากหนึ่งเบิกความว่า จำเลยขับด้วยความเร็วประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับจำเลยนำสืบว่าจำเลยขับด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อศาลฎีกาพิจารณาคำเบิกความดังกล่าวประกอบกับรอยห้ามล้อยาวถึง 20.30 เมตร และความเสียหายของรถยนต์ที่จำเลยขับซึ่งได้รับความเสียหายตรงบริเวณกันชนด้านขวามือผู้ขับยุบไปค่อนข้างมากแล้ว เชื่อว่าจำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงเกินสมควรดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมา ซึ่งการขับรถด้วยความเร็วสูงมาถึงทางร่วมทางแยกก็มิได้ลดหรือชะลอความเร็วของรถให้ช้าลงเป็นการขับรถโดยประมาทอย่างหนึ่ง แต่เหตุที่จำเลยห้ามล้อไม่น่าจะเกิดจากการที่จำเลยหักหลบหลุมตรงบริเวณปากทางแยกเป็นสำคัญ เพราะตามภาพถ่ายหมาย จ.5 สำนวนหลัง เห็นได้ชัดว่าหลุมดังกล่าวล้ำเข้ามาในผิวจราจรของช่องเดินรถที่จำเลยขับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหลบหลุมถึงขนาดล้ำเข้าไปในช่องเดินรถสวน เชื่อว่าเหตุที่จำเลยขับล้ำเข้าไปในช่องเดินรถสวนเพราะหักหลบรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับตัดหน้าจุดชน อยู่ตรง ๆ กับปากทางแยก ชนถูกรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับตรงฝาครอบแบตเตอรี่ ขวามือผู้ตาย น่าเชื่อว่าผู้ตายยังมิได้ตั้งลำรถจักรยานยนต์ในช่องเดินรถที่ตนจะขับไป ทั้งตามคำเบิกความของนายอุดมก็ได้ความว่าเมื่อนายอุดมและผู้ตายขับรถมาถึงปากทางแยก นายอุดมเห็นรถยนต์ที่จำเลยขับแล่นมาอยู่ห่างรถที่นายอุดมขับ 30 ถึง 40 เมตร นายอุดมจึงหยุดตรงปากทางแยก ไม่ขับออกไปในถนนที่เกิดเหตุ แต่ผู้ตายขับออกไปจึงถูกรถยนต์ที่จำเลยขับมาชนเห็นได้ว่าถ้าผู้ตายระมัดระวังโดยยังไม่ขับออกไปเหมือนนายอุดมก็จะไม่ถูกจำเลยขับรถยนต์ชน ยิ่งกว่านั้นตามคำเบิกความของนายถวัลย์ นายโจ้ย และนายทองเหรียญ พยานโจทก์ทั้งสองที่เบิกความว่าผู้ตายขับในลักษณะพุ่งออกไป อันเป็นลักษณะของการขับออกไปอย่างรวดเร็ว เมื่อจำเลยเห็นจึงห้ามล้อตั้งแต่อยู่ห่าง 20.30 เมตร พฤติการณ์เช่นนี้ แม้จุดชนอยู่ห่างจากเส้นแบ่งช่องเดินรถประมาณ 1.40 เมตร ดังที่โจทก์ที่ 2 ฎีกา ก็ไม่เป็นข้อบ่งชี้ว่าผู้ตายมิได้ประมาทที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าทั้งผู้ตายและจำเลยต่างขับรถโดยประมาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย เมื่อผู้ตายก็เป็นผู้ขับรถโดยประมาท ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายและไม่มีอำนาจฟ้องซึ่งรวมทั้งไม่มีอำนาจฟ้องอุทธรณ์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4), 5 (2) และ 3 (2) เมื่อไม่มีอำนาจฟ้องฎีกา ก็ไม่อาจขอให้ไม่รอการลงโทษดังที่ฎีกาขึ้นมาด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 มานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของทั้งโจทก์ที่ 2 และจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share