แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯมาตรา 9, 11 เป็นเพียงบทบัญญัติกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือเป็นแนวเดียวกันเท่านั้น แต่มิได้หมายความว่า เมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว การจ้างเป็นอันระงับไปในตัวทันที หากจักต้องจัดการให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
บำเหน็จเป็นเงินซึ่งมีลักษณะเป็นการตอบแทนที่พนักงานหรือลูกจ้างได้ทำงานมาด้วยดีตลอดมาจนถึงวันที่ต้องพ้นจากตำแหน่งไป ส่วนค่าชดเชยเป็นเงินซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานกำหนดให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างประจำเมื่อเลิกจ้าง ดังนั้น แม้จำเลยจ่ายบำเหน็จโดยมีวิธีคำนวณเหมือนค่าชดเชย และกำหนดให้ถือว่าเป็นค่าชดเชย ก็หามีผลเป็นการจ่ายค่าชดเชยแล้วไม่
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 28,620 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้ให้โจทก์ออกจากงาน แต่โจทก์ต้องพ้นจากตำแหน่งไปเองตามที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11 บังคับไว้ จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11 เป็นเพียงบทบัญญัติกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือเป็นแนวเดียวกันเท่านั้น แต่มิได้หมายความว่าเมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว การจ้างเป็นอันระงับไปในตัวทันทีหากรัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างจักต้องจัดการให้พนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ซึ่งขาดคุณสมบัตินั้นพ้นจากตำแหน่งไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515
ปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่า บำเหน็จตามข้อบังคับองค์การแบตเตอรี่ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ.2521 เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างเพื่อเป็นการสงเคราะห์ในกรณีที่ต้องออกจากงานมิให้เดือดร้อนที่ต้องว่างงาน มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับค่าชดเชย และมีวิธีการคิดคำนวณเหมือนกับค่าชดเชย ทั้งตามข้อบังคับดังกล่าวกำหนดให้ถือว่าเป็นค่าชดเชยด้วย จึงเท่ากับโจทก์ได้รับค่าชดเชยไปแล้วนั้น เห็นว่า บำเหน็จเป็นเงินซึ่งมีลักษณะเป็นการตอบแทนที่พนักงานหรือลูกจ้างได้ทำงานมาด้วยดีตลอดมาจนถึงวันที่ต้องพ้นจากตำแหน่งไป ส่วนค่าชดเชยเป็นเงินซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานกำหนดให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างประจำเมื่อเลิกจ้าง ทั้งพนักงานหรือลูกจ้างผู้จะพึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จยังรวมตลอดไปถึงผู้ที่ตาย หรือลาออกด้วย ซึ่งกรณีดังกล่าวตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย จึงไม่อาจแปลปรับบำเหน็จเป็นค่าชดเชยได้ บำเหน็จจึงเป็นเพียงเงินประเภทอื่นซึ่งจำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างหรือโจทก์ยิ่งไปกว่าค่าชดเชย ดังนี้ถึงแม้จำเลยจ่ายบำเหน็จโดยมีวิธีคำนวณเหมือนค่าชดเชยและกำหนดให้ถือว่าเป็นค่าชดเชย ก็หามีผลให้ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยแล้วไม่ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน