คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2873/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินของลูกหนี้โอนขายแก่ ส. ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ซื้อที่ดินรับโอนโฉนดจาก ส. โดยสุจริตและชำระราคาที่ดินตามที่ตกลงซื้อขายกันให้แก่ ส. แล้วย่อมได้รับความคุ้มครองตามข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์นำยึดที่ดินของผู้ร้องไม่ได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์นำยึดที่ดินมีโฉนดอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 4 มาขายทอดตลาด ผู้ร้องร้องว่าที่ดินที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 4 ได้จำนองที่ดินพิพาทไว้กับสหกรณ์โจทก์ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2511 แล้วได้ทำการไถ่ถอนจำนองเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2518 และขายให้นายสุพิศเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2519 (เอกสารหมาย จ.1) การที่จำเลยที่ 4 ไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินพิพาทให้นายสุพิศจึงเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 4 ได้ทราบมติของที่ประชุมกรรมการสหกรณ์โจทก์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2518 และมติที่ประชุมใหญ่สามัญสหกรณ์โจทก์เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2518 ที่ให้จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้ราคาข้าวโพดขาดน้ำหนักร่วมกับกรรมการอื่นเป็นเงินหนึ่งล้านบาทเศษแล้วนายสุพิศมีอาชีพทำนาและเป็นบุตรของจำเลยที่ 4 ย่อมจะทราบถึงเรื่องที่จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้ราคาข้าวโพดขาดน้ำหนักให้แก่โจทก์ เพราะจำเลยที่ 5เล่าเรื่องให้ฟังได้ และเมื่อนายสุพิศซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 4 แล้วก็อ้างว่าน้ำท่วมทำนาไม่ได้ผลจึงขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 4 ให้เป็นของนายสุพิศชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น พฤติการณ์การขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 4 กับนายสุพิศซึ่งเป็นบิดาและบุตรจึงส่อให้เห็นว่าได้ทำการซื้อขายกันโดยรู้อยู่ว่าทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ อันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ดังที่โจทก์นำสืบ แต่ปรากฏว่านายสุพิศได้ขายที่ดินพิพาทต่อให้ผู้ร้องในราคา 10,000 บาทเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2520 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 4 ทราบว่าจะต้องชดใช้ราคาข้าวโพดขาดบัญชีให้โจทก์ถึง 2 ปี โดยผู้ร้องและนายสุพิศต่างเบิกความว่าขณะทำการซื้อขายที่ดินพิพาทนั้น นายสุพิศอยู่อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ส่วนผู้ร้องค้าขายสังกะสีอยู่ที่ตลาดอำเภอหล่มสัก จึงอยู่คนละอำเภอกันทั้งผู้ร้องเบิกความว่ารู้จักนายสุพิศแต่ไม่สนิทสนมกัน ไม่ทราบว่านายสุพิศรับโอนที่ดินพิพาทมาจากผู้ใด ซึ่งก็น่าเชื่อว่าเป็นความจริง เพราะไม่มีเหตุผลอันใดที่ผู้ร้องจะต้องสืบประวัติของที่ดินพิพาทว่าเป็นของผู้ใดมาก่อน ที่โจทก์นำสืบว่านายสุพิศขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องในราคา 10,000 บาท เป็นราคาถูกมากนั้นก็เป็นการนำสืบลอย ๆ หาได้อ้างหลักฐานการซื้อขายที่ดินใกล้เคียงที่ดินพิพาทมาประกอบให้เชื่อว่าเป็นราคาซื้อขายที่ต่ำกว่าราคาที่แท้จริงแต่อย่างใดไม่และที่โจทก์ว่าผู้ร้องมีร้านค้าสังกะสีอยู่ห่างที่พิพาทประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อซื้อขายแล้วนายสุพิศก็ปลูกกระต๊อบอยู่ในที่ดินพิพาทนั้น ก็ไม่พอให้ฟังว่า ผู้ร้องรู้จักที่ดินพิพาทมาก่อน และไม่ได้มีการซื้อขายกันจริงแต่อย่างใด ศาลฎีกาเชื่อว่าผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนายสุพิศโดยสุจริตและชำระราคาที่ดินตามที่ตกลงซื้อขายกันให้แก่นายสุพิศแล้ว จึงได้รับความคุ้มครองตามข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237”

พิพากษายืน

Share