คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2866/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คดีเดิมศาลจะพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ตัดสิทธิโจทก์จะนำคดีมาฟ้องใหม่และคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมิใช่นายจ้างของโจทก์ตามความหมายของกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้รับผิดในฐานะตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้แสดงให้ปรากฏแก่บุคคลภายนอกโดยทั่วไปเข้าใจว่าเป็นบริษัทเดียวกันกับบริษัทจำเลยที่ 1เสมอมาต่อมาพนักงานของจำเลยทั้งสองยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแต่ตกลงกันไม่ได้จึงมีการนัดหยุดงาน จำเลยที่ 2 ปิดงานงดจ้าง และส่งข้อเรียกร้องไปให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาด ระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 ได้ประกาศเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเข้าร่วมในการยื่นข้อเรียกร้องโจทก์ยื่นคำร้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2กระทำการอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์กลับเข้าทำงาน จำเลยที่ 2 ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ผลที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงยอมรับโจทก์กลับเข้าทำงานพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของตนจำลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชอบร่วมกันในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโจทก์คือการที่โจทก์ขาดรายได้ประจำนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่รับกลับเข้าทำงาน ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ยังเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 มิได้ถูกเลิกจ้าง จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่สั่งให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งทำให้โจทก์เสียหาย ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์มิได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีเดิมศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องใหม่ศาลฎีกาพิพากษายืน ดังนี้ กรณีฟ้องของโจทก์เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3) ไม่ต้องห้ามที่จะรื้อร้องฟ้องกันอีก จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ อย่างไรก็ดีตามฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 2รับผิดในฐานะตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มิใช่นายจ้างของโจทก์ตามความหมายของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามฟ้องได้

พิพากษายืน

Share