คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2862/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำสั่งศาลโดยผู้ซื้อได้วางเงินค่าซื้อต่อศาลในวันขายทอดตลาดและศาลได้มีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินให้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อ และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาได้รับเงินที่ผู้ซื้อวางไว้ต่อศาลไปหมดแล้ว การบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์ของจำเลยที่ 2 จึงเสร็จลงแล้ว จำเลยทั้งสองเพิ่งมายื่นคำร้องคัดค้านภายหลังจากนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ทราบประกาศขายทอดตลาดที่ดินอันเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำร้องคัดค้านก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดีดังกล่าวได้.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงขอหมายบังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 2ที่จำนองไว้ขายทอดตลาด นางสาวศิริประภา ธีระพันธุ์พงษ์ เป็นผู้ซื้อได้
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า การขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองไม่ชอบเพราะจำเลยทั้งสองไม่เคยทราบประกาศขายทอดตลาดจึงไม่มีโอกาสคัดค้าน และขายต่ำกว่าราคาที่แท้จริง ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนฟังได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 17690 เลขที่ดิน 260หน้าสำรวจ 5818 ตำบลเวียง (รอบเวียง) อำเภอเมืองเชียงรายจังหวัดเชียงราย พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงนี้คือบ้านเลขที่137 หมู่ที่ 26 ถนนพหลโยธิน ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงรายจังหวัดเชียงราย โดยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่จำนองโจทก์ไว้ ตามบัญชียึดทรัพย์ ฉบับลงวันที่25 พฤศจิกายน 2530 ต่อมาได้มีการประกาศขายทอดตลาดครั้งที่หนึ่งเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2531 ผู้แทนโจทก์คัดค้านว่าราคาต่ำไป ตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 21 มกราคม 2531 ประกาศขายทอดตลาดครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2531 ไม่มีผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์ ตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2531 ประกาศขายทอดตลาดครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2531 ไม่มีผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์ ตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 16มิถุนายน 2531 ประกาศขายทอดตลาดครั้งที่สี่ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม2531 ไม่มีผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์ ตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 26 สิงหาคม 2531 ประกาศขายทอดตลาดครั้งที่ห้า เมื่อวันที่ 15พฤษภาคม 2532 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำประกาศไปปิดที่ศาลจังหวัดเชียงราย สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงราย บ้านจำเลยที่ทรัพย์ตั้งอยู่เทศบาลเมืองเชียงรายตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2532 โดยนางสาวศิริประภา ธีระพันธุ์พงษ์ เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 350,000 บาทตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2532 ผู้ซื้อได้วางเงินค่าที่ดินที่ซื้อครบถ้วนแล้วและโจทก์ได้รับเงินจากการขายทอดตลาดไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2532 ตามใบรับเงินหรือสิ่งของที่คู่ความรับไปจากศาลฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2532 และศาลชั้นต้นได้มีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินให้โอนที่ดินแก่ผู้ซื้อ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2532 จำเลยทั้งสองมายื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2533
พิเคราะห์แล้ว คดีมีเหตุสมควรวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ปัญหานี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา296 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้นแล้วแต่กรณี อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น…” คดีได้ความตามรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2532เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 17690 ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำสั่งศาล นางสาวศิริประภา ธีระพันธุ์พงษ์ ผู้ซื้อได้วางเงินค่าที่ดินที่ซื้อต่อศาลชั้นต้นในวันขายทอดตลาด และเมื่อวันที่16 พฤษภาคม 2532 ศาลชั้นต้นได้มีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินให้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อ และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาได้รับเงินที่ผู้ซื้อวางไว้ต่อศาลชั้นต้นไปหมดแล้ว เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2532 ดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า การบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ได้เสร็จลงแล้วจำเลยทั้งสองเพิ่งมายื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดเมื่อวันที่5 กรกฎาคม 2533 แม้คดีจะฟังว่าจำเลยทั้งสองไม่ทราบประกาศขายทอดตลาดที่ดินอันเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 306 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำร้องคัดค้านก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดีที่เสร็จแล้วได้แม้ปัญหานี้จะมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share