แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยเป็นบุตรของผู้วายชนม์แต่ต่างบิดากันย่อมเป็นเหตุผลอันหนึ่งที่สมควรตั้งบุคคลทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันเพื่อจะได้ช่วยกันระวังรักษาผลประโยชน์ของทายาทส่วนข้อที่ว่าผู้วายชนม์ได้ทรัพย์มรดกมาภายหลังจำเลยเกิดนั้น เมื่อจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก ก็ไม่ทำให้ข้อวินิจฉัยดังกล่าวเปลี่ยนแปลง
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางนาง ญาณวุฒิโท ผู้วายชนม์ ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดก และไม่มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกรายนี้ ปัญหาวินิจฉัยมีเพียงว่าสมควรตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์หรือไม่
โจทก์ฎีกาอ้างว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างบิดากัน โจทก์เกิดเมื่อผู้วายชนม์มีทรัพย์มรดกแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 เกิดก่อนผู้วายชนม์ได้ทรัพย์มรดกมา พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของผู้วายชนม์แต่ต่างบิดากัน ย่อมเป็นเหตุผลอันหนึ่งที่สมควรตั้งบุคคลทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน เพื่อจะได้ช่วยกันระวังรักษาผลประโยชน์ของทายาท โดยเฉพาะการเจรจาต่อรองเรื่องเงินค่าชดเชยที่ดินที่ถูกเวนคืนกับกรมทางหลวง ส่วนข้อที่ว่าผู้วายชนม์ได้ทรัพย์มรดกมาภายหลังจำเลยที่ 1 เกิดนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก ก็ไม่ทำให้ข้อวินิจฉัยดังกล่าวเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน