คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2856/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ด. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 1,570 เม็ด และอาวุธปืน ในระหว่างที่ ด. ถูกควบคุมตัวจำเลยที่ 4 โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจาก ด. ด.ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจาก ว. ให้จำเลยที่ 4 ว. ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งให้ ด. เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 40,000 เม็ด แล้วขยายผลการจับกุมโดยให้สิบตำรวจเอก ท. ปลอมตัวเป็นลูกน้องของ ด. นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบให้จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 3 มารับเมทแอมเฟตามีนแทน การที่สิบตำรวจเอก ท. ส่งมอบกระเป๋าซึ่งภายในไม่มีเมทแอมเฟตามีนของกลางให้จำเลยที่ 3 คงเป็นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจเกรงว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งมารับเมทแอมเฟตามีนอาจแย่งชิงเมทแอมเฟตามีนของกลางจากสิบตำรวจเอก ท. ไปมากกว่าเหตุอื่น ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หาใช่เป็นการแน่แท้เด็ดขาดว่าเป็นเรื่องพ้นวิสัยที่จำเลยที่ 3 จะกระทำความผิดสำเร็จไม่ได้เพราะเหตุไม่มีเมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดได้ แต่เป็นกรณีที่อาจบรรลุผลได้ตามเจตนาของจำเลยที่ 3 ที่ต้องการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไป การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม ป.อ. มาตรา 80 ไม่ใช่พยายามกระทำความผิดที่ไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามมาตรา 81

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 5, 8, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสาม, 102 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 จำเลยที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81, 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ให้ประหารชีวิต คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 3 เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 โดยวางโทษจำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 16 ปี 8 เดือน และปรับ 333,334 บาท และจำเลยที่ 4 จำคุก 16 ปี 8 เดือน และปรับ 333,334 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 3 หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 16 ปี 8 เดือน และปรับ 333,333.34 บาท (ที่ถูก 333,333.33 บาท) หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดจับกุมนายเด่นพงษ์หรือมอส ลูกน้องคนสนิทของนายศฤงคารหรืออุ๊บ ซึ่งเป็นผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากผู้ค้ายาเสพติดซึ่งอยู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวโดยนำเข้าทางจังหวัดหนองคาย นายเด่นพงษ์ยอมให้ข้อมูลและร่วมมือใช้โทรศัพท์ติดต่อสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนางวันหรือวรรณ ผู้ค้ายาเสพติดชาวลาวโดยนัดหมายให้นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งที่ห้างสรรพสินค้าโลตัสบิ๊กเจียง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย วันที่ 5 กรกฎาคม 2549 นางวันผู้ค้ายาเสพติดชาวลาวได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีนที่สั่งซื้อมาส่งยังจุดที่นัดหมาย พันตำรวจเอกทวีโรจน์ กับพวกจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ที่บริเวณลานจอดรถห้างสรรพสินค้าโลตัสบิ๊กเจียง พร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีน 40,000 เม็ด ซึ่งซุกซ่อนในรถกระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน บฉ 2924 หนองคาย กับเงินสด 100,000 บาท และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่อง จากตัวจำเลยที่ 1 ได้ยึดไว้เป็นของกลาง ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2549 พันตำรวจโทเอกพงษ์ กับพวกจับกุมจำเลยที่ 3 ได้ที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าโฮมโปร สาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต พร้อมยึดได้รถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค หมายเลขทะเบียน ศส 6810 กรุงเทพมหานคร เงินสด 800,000 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 4114 8396 เงินสดอีก 100,000 บาท ในรถ และจับจำเลยที่ 4 ได้ที่อาคารวีพีเพลส ซอยอินทามาระ 44 ถนนสุทธิสาร แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร พร้อมโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 1616 8730 และตรวจค้นห้องพักของจำเลยที่ 4 ในอาคารดังกล่าวพบของกลางกัญชาจำนวนเล็กน้อย เงินสด 1,300,000 บาทเศษ สมุดบัญชีประมาณ 10 เล่ม สำเนาใบโอนเงิน 11 ฉบับ ตามบันทึกการตรวจค้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ฎีกาคดีจึงเป็นอันฟังยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดโดยร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนเข้าในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย และจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นความผิดเพราะขาดองค์ประกอบความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเนื่องจากไม่มีเมทแอมเฟตามีนส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 4 ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาถือเป็นการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมเบิกความสอดคล้องต้องกัน ทั้งต่างไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 4 มาก่อน จึงย่อมไม่มีมูลเหตุที่พยานโจทก์ดังกล่าวจะแกล้งเบิกความเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 4 ให้ต้องรับโทษในทางอาญา เชื่อว่าต่างเบิกความไปตามความจริง ถึงแม้นายเด่นพงษ์พยานโจทก์จะเบิกความแตกต่างไปจากพยานโจทก์ดังกล่าว แต่คำเบิกความของนายเด่นพงษ์ซึ่งอ้างว่าจำเลยที่ 4 ติดต่อทางโทรศัพท์กับนายเด่นพงษ์เพื่อให้นายเด่นพงษ์แทงพนันฟุตบอลกับจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ไม่เคยสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายเด่นพงษ์ขัดแย้งแตกต่างจากคำให้การในชั้นสอบสวนของนายเด่นพงษ์ตามคำให้การชั้นสอบสวนของนายเด่นพงษ์ ซึ่งให้การหลังจากถูกพันตำรวจโทเอกพงษ์กับพวกจับกุม โดยนายเด่นพงษ์ได้แจ้งเบาะแสแก่พันตำรวจโทเอกพงษ์เกี่ยวกับผู้ค้ายาเสพติดเพื่อต้องการลดโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ตามที่ได้รับคำแนะนำจากพันตำรวจโทเอกพงษ์โดยให้การยืนยันว่าจำเลยที่ 4 ติดต่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากนายเด่นพงษ์ซึ่งนายเด่นพงษ์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากนางวันผู้ค้ายาเสพติดซึ่งอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีกทอดหนึ่งมาส่งให้แก่จำเลยที่ 4 จนนำไปสู่การจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีน 40,000 เม็ด ของกลางและจับกุมจำเลยที่ 3 พร้อมยึดได้เงิน 800,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 3 นำมาเพื่อชำระเป็นค่าเมทแอมเฟตามีนของกลางบางส่วน การที่นายเด่นพงษ์เบิกความในชั้นศาลปฏิเสธว่าจำเลยที่ 4 ไม่เคยสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากนายเด่นพงษ์ คงมีเจตนาเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 4 ให้พ้นผิด เชื่อว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของนายเด่นพงษ์เป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นศาลจึงไม่ทำให้น้ำหนักคำพยานโจทก์ปากอื่นเสียไป อีกทั้งคำให้การในชั้นสอบสวนของนายเด่นพงษ์ กฎหมายมิได้ห้ามรับฟังโดยเด็ดขาดศาลย่อมนำคำให้การชั้นสอบสวนของนายเด่นพงษ์มารับฟังประกอบหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ประกอบกับพันตำรวจเอกทวีโรจน์และพันตำรวจโทเอกพงษ์กับพวกยึดได้สมุดบัญชีเงินฝากของนางบัวผันพร้อมบัตรเบิกถอนเงินสด (เอ.ที.เอ็ม) ของนางบัวผันที่อยู่ในความครอบครองของนางพิสมัยที่จำเลยที่ 4 โอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนค้างชำระจำนวน 1,200,000 บาท ไปให้แก่นางวันผู้ค้ายาเสพติดชาวลาวแต่เงินดังกล่าวได้ถูกอายัดไว้ก่อนที่นางวัน ผู้ค้ายาเสพติดชาวลาวจะให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาส่งมอบให้นายเด่นพงษ์ ที่ห้างสรรพสินค้าโลตัสบิ๊กเจียง อีกทั้งยังยึดได้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 1616 8730 ของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารที่จำเลยที่ 4 ใช้ในการติดต่อกับนายเด่นพงษ์เพื่อสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนเป็นของกลาง และนัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิตแก่กัน และเมื่อพันตำรวจเอกทวีโรจน์ พันตำรวจโทเอกพงษ์กับพวกจับกุมจำเลยที่ 3 พร้อมยึดได้เงิน 800,000 บาท ซึ่งเป็นค่าเมทแอมเฟตามีนของกลางส่วนหนึ่งที่ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้แจ้งแก่พันตำรวจโทเอกพงษ์ในขณะนั้นทันทีว่า จำเลยที่ 3 ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 4 ให้มารับเมทแอมเฟตามีนของกลางจากนายเด่นพงษ์ ซึ่งในชั้นสอบสวนครั้งแรก จำเลยที่ 3 ก็ยังคงให้การว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เคยร่วมกันค้าเมทแอมเฟตามีนหลายครั้ง โดยติดต่อซื้อจากนายเด่นพงษ์ วันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ว่ามีเมทแอมเฟตามีนแล้ว ให้จำเลยที่ 3 ติดต่อและรับเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจากนายเด่นพงษ์ โดยจำเลยที่ 3 ให้การต่อหน้าพันตำรวจโทศิริเดช ทนายความซึ่งเป็นตัวแทนจากสภาทนายความให้มาร่วมฟังการสอบปากคำผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนด้วยตามคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 ตามคำเบิกความของพันตำรวจโทศิริเดชไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้บังคับขู่เข็ญให้จำเลยที่ 3 ให้การ ดังนี้จำเลยที่ 3 คงแจ้งต่อพันตำรวจโทเอกพงษ์เช่นนั้นไปตามความจริง คดีเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 4 สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากนายเด่นพงษ์ และใช้ให้จำเลยที่ 3 มารับเมทแอมเฟตามีนของกลางจากนายเด่นพงษ์ที่ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิตที่จำเลยที่ 4 นำสืบต่อสู้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้ามือรับแทงพนันฟุตบอล นายเด่นพงษ์เป็นลูกค้าเล่นพนันฟุตบอลกับจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 นายเด่นพงษ์ได้แทงพนันฟุตบอลกับจำเลยที่ 4 เป็นเงิน 250,000 บาท ปรากฏว่านายเด่นพงษ์แทงถูกคู่ฟุตบอลที่นายเด่นพงษ์เล่นพนันเป็นฝ่ายชนะได้เงินจากจำเลยที่ 4 เป็นเงิน 225,000 บาท ตามอัตราต่อรองการเล่นพนันฟุตบอล แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 4 อยู่ที่ราชอาณาจักรกัมพูชาจึงโทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้ามือรับแทงพนันฟุตบอลจ่ายเงินให้นายเด่นพงษ์แทนจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ไม่เคยสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากนายเด่นพงษ์นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 4 มีจำเลยที่ 3 เป็นพยานเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้ามือพนันฟุตบอล มีนายเด่นพงษ์ เป็นลูกค้าเล่นพนันฟุตบอลกับจำเลยที่ 4 แต่คำเบิกความของจำเลยที่ 3 ขัดแย้งแตกต่างจากคำให้การในชั้นสอบสวนครั้งแรกของจำเลยที่ 3 จึงไม่อาจรับฟังเอาความจริงจากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ได้ นอกจากนี้แล้วจำเลยที่ 4 หาได้มีพยานหลักฐานอื่นมาสืบสนับสนุนให้เห็นจริงดังที่จำเลยที่ 4 อ้างไม่ อีกทั้งจำเลยที่ 4 ไม่เคยร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของพยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 4 ว่าร่วมกันกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 4 เพื่อให้ลงโทษทางวินัยผิดวิสัยของ ผู้ถูกกลั่นแกล้งจับกุม ข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 4 ไม่สมเหตุผล ไม่อาจรับฟัง ส่วนที่จำเลยที่ 4 อ้างมาในฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 4 สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายเด่นพงษ์ หากเป็นความจริงพันตำรวจเอกทวีโรจน์และพันตำรวจโทเอกพงษ์จะต้องบันทึกเทปไว้เป็นหลักฐานการไม่บันทึกเทปจึงเป็นข้อพิรุธนั้น เห็นว่า แม้พันตำรวจเอกทวีโรจน์และพันตำรวจโทเอกพงษ์จะไม่ได้บันทึกการสอบสวนระหว่างจำเลยที่ 4 และนายเด่นพงษ์ แต่พันตำรวจเอกทวีโรจน์และพันตำรวจโทเอกพงษ์ต่างได้ยินจำเลยที่ 4 โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากนายเด่นพงษ์คำเบิกความของพันตำรวจเอกทวีโรจน์และพันตำรวจโทเอกพงษ์ย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้โดยหาจำต้องบันทึกเทปคำพูดของจำเลยที่ 4 ไว้ไม่ และที่จำเลยที่ 4 อ้างมาในฎีกาว่า การโอนเงิน 1,200,000 บาท เข้าบัญชีของนางบัวผันไปให้นางวันผู้ค้ายาเสพติดชาวลาว ไม่ได้ฝากผ่านเครื่องอัตโนมัติทั้งหมด และการที่ฝากเงินดังกล่าวไม่ใช่สถานที่เดียวกันดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงคลาดเคลื่อนไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า มีการโอนเงิน 1,200,000 บาท เข้าบัญชีของนางบัวผันจริง และพันตำรวจโทณัฐนนท์ได้อายัดเงินดังกล่าวแล้วการฝากเงินโดยวิธีใดและสถานที่ฝากเงินใด จึงหาใช่สาระสำคัญดังที่จำเลยที่ 4 อ้างมาในฎีกาไม่ ศาลอุทธรณ์ย่อมนำหลักฐานการโอนเงินดังกล่าวมารับฟังประกอบลงโทษจำเลยที่ 4 ได้ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 4 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 กระทำความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่เห็นว่า การที่พันตำรวจเอกทวีโรจน์และพันตำรวจโทเอกพงษ์มอบกระเป๋าสีดำให้สิบตำรวจโททวีศักดิ์ไปซึ่งภายในกระเป๋าไม่มีเมทแอมเฟตามีนของกลาง คงเป็นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจเกรงว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งมารับเมทแอมเฟตามีนของกลางอาจแย่งชิงเมทแอมเฟตามีนของกลางจากสิบตำรวจโททวีศักดิ์ไปได้มากกว่าเหตุอื่น ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หาใช่เป็นการแน่แท้เด็ดขาดว่าเป็นเรื่องพ้นวิสัยที่จำเลยที่ 3 จะกระทำความผิดสำเร็จได้เพราะเหตุไม่มีเมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะตรวจค้นยึดได้จริง แต่เป็นกรณีที่อาจบรรลุผลได้ตามเจตนาของจำเลยที่ 3 ที่ต้องการนำเอาเมทแอมเฟตามีนของกลางไป การกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ไม่ใช่มาตรา 81 ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้อง โดยไม่แก้โทษได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง, มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ถึงแม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้ฎีกาขึ้นมา แต่การปรับบทเป็นการวางบทกำหนดโทษให้ถูกต้องถือเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยไปถึงจำเลยที่ 3 ด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 และจำเลยที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 86 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share