คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2856/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มิได้กำหนดวิธีการนับระยะเวลาไว้จึงต้องนำวิธีการกำหนดนับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 มาใช้บังคับคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้รับคำร้องของนายเกรียงศักดิ์นพศรี ลูกจ้าง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2524 จึงจะนับวันแรกที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้รับคำร้องรวมคำนวณด้วยไม่ได้กำหนดระยะเวลาเก้าสิบวันตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา 125 จึงต้องเริ่มนับจาก วันที่ 28 พฤษภาคม 2524 และจะครบกำหนดเก้าสิบวันในวันที่ 25 สิงหาคม 2524
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 125 วรรคสองให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยใช้ดุลพินิจในการขยายเวลาการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไว้อย่างกว้างขวาง ไม่มีข้อจำกัดหรือกำหนดวิธีการในการร้องขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งอนุญาตไว้แต่อย่างใด เมื่อมีคำขออนุมัติขยายเวลาชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไปอีกสามสิบวัน นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2524 ถึงวันที่24 กันยายน 2524 ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งอนุมัติให้ขยายระยะเวลาตามคำขอนั้นแล้ว และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งก่อนครบกำหนดสามสิบวัน ตามที่ได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลาออกไป คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเก้าเป็นกรรมการในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2524 นายสมศักดิ์ นพศรีได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยทั้งเก้ากล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้างนายสมศักดิ์ เนื่องจากนายสมศักดิ์กำลังจะยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างทำคำร้องขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานผลิตเหล็กและโลหะแห่งประเทศไทยและเพราะเหตุที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ขอให้จำเลยพิจารณาชี้ขาดให้โจทก์รับนายสมศักดิ์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม จำเลยทั้งเก้าพิจารณาและมีคำสั่งว่าโจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรมแก่นายสมศักดิ์ ให้โจทก์รับนายสมศักดิ์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม เสมือนมิได้มีการเลิกจ้าง โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวเพราะเหตุที่นายสมศักดิ์ได้กระทำผิดอาญาต่อโจทก์เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2524 โดยขู่เข็ญโจทก์เพื่อเรียกร้องเอาเงินหนึ่งล้านห้าแสนบาท นายวิชัย สนธิสมบัติผู้จัดการโรงงานโจทก์ผู้รับมอบอำนาจได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน จำเลยไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยตีความการแจ้งความนี้ว่าไม่ใช่การร้องทุกข์ตามกฎหมาย จำเลยไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องของนายสมศักดิ์และได้ขออนุมัติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอขยายเวลาการพิจารณาออกไปอีก 30 วันนับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2524 อันเลยกำหนดเก้าสิบวันไปแล้ว การขอขยายระยะเวลาและคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยจึงไม่มีผลใช้บังคับขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 96/2524 ลงวันที่ 11 กันยายน 2524

จำเลยทั้งเก้าให้การว่า การกระทำของนายสมศักดิ์ นพศรีไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังว่านายสมศักดิ์ขู่เข็ญโจทก์เพื่อเรียกเงินหนึ่งล้านห้าแสนบาทอันเป็นการกระทำผิดอาญา ส่วนที่โจทก์อ้างว่านายสมศักดิ์ดื่มสุรา มีอาการมึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้และท้าทายผู้จัดการโรงงานออกไปชกต่อยนอกโรงงานก็ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นเช่นนั้น นอกจากนี้นายวิชัย สนธิสมบัติ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยังให้การว่าเหตุที่เลิกจ้างนายสมศักดิ์เพราะถือเอาเรื่องการขู่เข็ญเรียกเอาเงินเป็นสำคัญ แต่ก็ยังไม่ถือเป็นเหตุเลิกจ้าง คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่อาจพิจารณาชี้ขาดคำร้องของนายสมศักดิ์ได้ภายในเก้าสิบวัน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้สั่งขยายเวลาให้อีกสามสิบวันคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้พิจารณาชี้ขาดคำร้องนี้ภายในระยะเวลาที่ขยายโดยชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คำสั่งที่ 96/2524 ลงวันที่ 11 กันยายน2524 เป็นคำสั่งที่ชอบไม่มีเหตุสมควรที่จะเพิกถอน พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 ไม่ได้บัญญัติถึงวิธีนับระยะเวลาไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 ซึ่งบัญญัติถึงวิธีนับระยะเวลาไว้ว่า”ถ้าระยะเวลานับเป็นวันก็ดี สัปดาห์ก็ดี เดือนหรือปีก็ดี ท่านมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานับรวมคำนวณเข้าด้วย” มาใช้บังคับ ดังนั้นจึงนับวันแรกที่จำเลยได้รับคำร้องรวมคำนวณเข้าด้วยไม่ได้กำหนดระยะเวลาเก้าสิบวันจึงต้องเริ่มนับจากวันที่ 28 พฤษภาคม 2524 และจะครบกำหนด 90 วันในวันที่ 25 สิงหาคม 2524 ส่วนการขยายระยะเวลานั้นพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 125 วรรคสอง บัญญัติว่า “รัฐมนตรีมีอำนาจขยายระยะเวลาให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดได้ตามที่เห็นสมควร “แสดงว่ากฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจในการขยายระยะเวลาไว้อย่างกว้างขวางไม่มีข้อจำกัด หรือกำหนดวิธีการในการร้องขอให้รัฐมนตรีสั่งอนุญาตไว้แต่อย่างใด ฉะนั้นเมื่อมีคำขออนุมัติขยายระยะเวลาชี้ขาดตามเอกสารหมาย ล.6 ไปอีกสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2524 ถึงวันที่ 24 กันยายน 2524 ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งอนุมัติให้ขยายระยะเวลาตามคำขอนั้นแล้ว และจำเลยในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งที่ 96/2524 ลงวันที่ 11 กันยายน 2524 ก่อนครบกำหนดสามสิบวันตามที่ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาออกไป คำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและจำเลยจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

พิพากษายืน

Share