แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกไว้กับ ร.ต่อมารถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวซึ่งมีส. เป็นผู้ขับชนกับรถยนต์บรรทุกซึ่งมี ว. เป็นผู้ขับ เพราะความประมาทของ ว.เป็นเหตุให้ส. ถึงแก่ความตายและรถยนต์บรรทุกเสียหาย โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นนายจ้าง หรือตัวการ หรือผู้ใช้ หรือผู้จ้างวานของ ว. ร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิ ส่วนจำเลยให้การว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นนายจ้าง ตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้จ้างวานของ ว. ประเด็นข้อพิพาทมีเพียงว่า จำเลยทั้งสามเป็นนายจ้าง ตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้จ้างวานว.หรือไม่ส่วนประเด็นที่ว่าความประมาทเกิดจากว. หรือไม่นั้นเมื่อจำเลยไม่ได้ให้การไว้ ต้องฟังว่า ว. เป็นฝ่ายประมาทและเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 84(1) การที่ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นเรื่องนี้ขึ้นวินิจฉัยอีกเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นต้องห้ามตามมาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 10-2879 ขอนแก่น และร่วมกันเป็นนายจ้างหรือตัวการจ้างวานใช้นายสุรวิทย์ เขียวชัยภูมิ ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ประกอบการขนส่งเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2537 เวลา 20.30 นาฬิกา ขณะที่นายเสถียรโพธิ์ชัยเลิศ ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-3153 ขอนแก่นซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดระดมเคหะกิจเป็นเจ้าของผู้ครอบครอง และโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยแล่นไปตามถนนมิตรภาพจากจังหวัดขอนแก่นมุ่งหน้ามาทางจังหวัดนครราชสีมา ครั้นถึงหลักกิโลเมตรที่ 457-458อำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา ได้มีรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 10-2879 ขอนแก่น แล่นจากจังหวัดนครราชสีมา มุ่งหน้าไปทางจังหวัดขอนแก่น โดยมีนายสุรวิทย์เป็นผู้ขับ ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง นายสุรวิทย์ขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวแซงรถยนต์ที่อยู่ด้านหน้าล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนแล้วพุ่งเข้าเฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกที่โจทก์รับประกันภัยไว้ เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายและนายเสถียรถึงแก่ความตายโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าซ่อมแซมรถยนต์บรรทุกที่รับประกันภัยไว้เป็นเงิน 136,500 บาท ค่าลากรถเป็นเงิน 7,000 บาทค่าปลงศพนายเสถียรเป็นเงิน 50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น193,500 บาท โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิได้บอกกล่าวทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 193,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุจำเลยที่ 3เป็นผู้ครอบครอง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2537 จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปซื้อสินค้าโดยมีนายสุรวิทย์ เขียวชัยภูมิเป็นคนขับ ส่วนนายสุรวิทย์จะไปทำละเมิดต่อผู้ใดนั้น จำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุและนายสุรวิทย์ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า นายสุรวิทย์ เขียวชัยภูมิเป็นน้องชายของจำเลยที่ 2 โดยได้อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1และนายสุรวิทย์กับจำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพค้าขายผัก ผลไม้ส่วนจำเลยที่ 2 มีอาชีพทำนา ไม่มีส่วนร่วมด้วย จำเลยที่ 1กับนายสุรวิทย์ได้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 3จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุหรือเป็นนายจ้างหรือตัวการจ้างวานใช้ให้นายสุรวิทย์ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุแต่ประการใด จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามโดยฟังข้อเท็จจริงว่า นายสุรวิทย์ เขียวชัยภูมิ ผู้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 10-2879 ขอนแก่น มิได้เป็นฝ่ายประมาทนั้นเป็นการพิพากษานอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-3153 ขอนแก่นไว้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดระดมเคหะกิจ ต่อมารถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวซึ่งมีนายเสถียร โพธิ์ชัยเลิศ เป็นผู้ขับได้เกิดชนกับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 10-2879 ขอนแก่น มีนายสุรวิทย์เป็นผู้ขับทั้งนี้เกิดจากความประมาทของนายสุรวิทย์เป็นเหตุให้นายเสถียรถึงแก่ความตาย และรถยนต์บรรทุกที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 193,500 บาทให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นนายจ้าง หรือตัวการ หรือผู้ใช้ หรือผู้จ้างงานนายสุรวิทย์ร่วมกันชดใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิ ส่วนจำเลยทั้งสามให้การว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นนายจ้าง ตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้จ้างวานนายสุรวิทย์ ตามคำฟ้องและคำให้การดังกล่าว ประเด็นข้อพิพาทมีเพียงประการเดียวว่า จำเลยทั้งสามเป็นนายจ้างตัวการผู้ใช้ หรือผู้จ้างวานนายสุรวิทย์หรือไม่ ส่วนประเด็นที่ว่า ความประมาทเกิดจากนายสุรวิทย์หรือไม่นั้น เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้ ต้องฟังว่านายสุรวิทย์เป็นฝ่ายประมาทและเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้ว ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 84(1) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 หยิบยกประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาวินิจฉัยอีก เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4พิจารณาและพิพากษาคดีใหม่