แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องและคำให้การ ประเด็นข้อพิพาทมีเพียงประการเดียวว่าจำเลยทั้งสามเป็นนายจ้าง ตัวการ ผู้ใช้ หรือ ผู้ว่าจ้างวาน ส.หรือไม่ ส่วนประเด็นที่ว่าความประมาทเกิดจาก ส.ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสามไม่ได้ให้การ ต่อสู้ไว้ ต้องฟังว่า ส. เป็นฝ่ายประมาทและเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบกับ มาตรา 84 (1) การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาวินิจฉัยอีก เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินจำนวน ๑๙๓,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดเนื่องจากจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุและนายสุรวิทย์ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ กับนายสุวิทย์ได้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุหรือเป็นนายจ้างหรือตัวการจ้างวานใช้ให้นายสุรวิทย์ ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุแต่ประการใด จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามโดยฟังข้อเท็จจริงว่า นายสุรวิทย์ เขียวชัยภูมิ ผู้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ๑๐ – ๒๘๗๙ ขอนแก่น มิได้เป็นฝ่ายประมาทนั้น เป็นการพิพากษานอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ๘๐ – ๓๑๕๓ ขอนแก่น ไว้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดระดมเคหะกิจ ต่อมารถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวซึ่งมีนายเสถียร โพธิชัยเลิศ เป็นผู้ขับได้เกิดชนกับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ๑๐ – ๒๘๗๙ขอนแก่น มีนายสุรวิทย์เป็นผู้ขับ ทั้งนี้เกิดจากความประมาทของนายสุรวิทย์เป็นเหตุให้นายเสถียรถึงแก่ความตาย และรถยนต์บรรทุกที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๑๙๓,๕๐๐ บาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นนายจ้าง หรือตัวการ หรือผู้ใช้ หรือผู้จ้างวานนายสุรวิทย์ร่วมกันชดใช้เงิน ดังกล่าวแก่โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิ ส่วนจำเลยทั้งสามให้การว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นนายจ้าง ตัวการ ผู้ใช้ หรือ ผู้จ้างวานนายสุรวิทย์ ตามคำฟ้องและคำให้การดังกล่าว ประเด็นข้อพิพาทมีเพียงประการเดียวว่า จำเลยทั้งสามเป็น นายจ้าง ตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้จ้างวานนายสุรวิทย์หรือไม่ ส่วนประเด็นที่ว่า ความประมาทเกิดจากนายสุรวิทย์หรือไม่นั้น เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้ ต้องฟังว่านายสุรวิทย์เป็นฝ่ายประมาทและเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้ว ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง ประกอบกับมาตรา ๘๔ (๑) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ หยิบยกประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาวินิจฉัยอีก เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๒๔๖ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิจารณาและพิพากษาคดีใหม่ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่