คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2847/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ ญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 64 ทวิ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะหรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้ใช้หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้การกระทำความผิด เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีได้จนกว่าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้น มิได้มีข้อความระบุถึงกรณีเจ้าของเครื่องมือดังกล่าวมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดก็ให้ยึดได้ ดังนั้นจะยึดทรัพย์ของบุคคลที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดไว้ประกอบคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-2940 หนองคาย เมื่อเดือนมีนาคม 2528 นายแสน แสงหล้าลูกจ้างโจทก์นำรถยนต์ดังกล่าวไปรับจ้างบรรทุกไม้แปรรูปหวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ถูกพนักงานยึดไว้ โจทก์ไม่ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของนายแสน โจทก์ได้ขอรถยนต์คืนจากจำเลยแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหายเพราะไม่อาจใช้รถยนต์ได้ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายวันละ 300 บาท นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2528 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี เป็นเงิน 438,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง 270,000 บาทค่าซ่อมแซมและค่าเสื่อมราคาจำนวน 30,000 บาท ขอให้จำเลยร่วมกันคืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-2940 หนองคาย และค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่ถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2เคลือบคลุม โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ตามฟ้องและรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของนายแสน พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ของกลางเพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของ ค่าเสียหายจำเลยฟ้องมาเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันคืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-2940 หนองคาย แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่นำสืบโดยมิได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2528เวลาประมาณ 2 นาฬิกา นายสถาพร ศิริศรี ปลัดอำเภอสังคมจังหวัดหนองคาย กับพวกได้จับกุมยึดรถยนต์ของกลางพร้อมด้วยไม้แปรรูป เนื่องจากนายแสน แสงหล้า ลูกจ้างของโจทก์ใช้รถยนต์ของกลางขนไม้แปรรูปหวงห้ามโดยมิได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 แต่นายแสนหลบหนีไปได้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย สอบสวนแล้วมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายแสน และพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องแต่ยังไม่ได้ตัวนายแสนมาฟ้อง สำหรับรถยนต์ของกลางเป็นของโจทก์และโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดของนายแสน พนักงานสอบสวนมอบให้จำเลยที่ 4 ดูแลรักษาและจำเลยที่ 4 ได้เก็บรถยนต์ของกลางไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสังคมจังหวัดหนองคาย
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิขอคืนรถยนต์ของกลางหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของนายแสนผู้ต้องหา ขณะนี้การสอบสวนเกี่ยวกับความผิดของนายแสนเสร็จสิ้นแล้วและมีคำสั่งฟ้องนายแสนแต่พนักงานอัยการไม่อาจนำตัวนายแสนส่งฟ้องต่อศาลได้ เนื่องจากนายแสนหลบหนีไปตั้งแต่ปี 2528 จนปัจจุบันนี้ โจทก์เองก็ไม่อาจยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 เพราะกรณีมิใช่ศาลมีคำสั่งริบรถยนต์ของกลาง แต่เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 64 ทวิ ซึ่งบัญญัติว่า “ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้ใช้หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา 11 มาตรา 48 มาตรา 54 หรือมาตรา 69 ไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ จนกว่าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำความผิดหรือของผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่”ซึ่งตามบทบัญญัติของมาตรานี้ มิได้มีข้อความระบุถึงกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดจะตีความว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีความมุ่งหมายให้ยึดทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดไม่ได้และรถยนต์ของกลางก็มิได้เป็นหลักฐานสำคัญแห่งองค์ความผิดเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดของนายแสนว่ากระทำความผิดฐานมีไม้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานไม่มีอำนาจยึดรถยนต์ของโจทก์เอาไว้ประกอบคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 วรรคท้าย จำเลยที่ 1ที่ 3 และที่ 4 ต้องคืนรถยนต์ของกลางให้โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share