แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่มีผู้ไปแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานปกครอง ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานบัตรประจำตัวประชาชนว่า บัตรประจำตัวประชาชนของด.สูญหายไป และผู้ที่มาร้องขอทำบัตรประชาชนฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่สูญหายไปคือ ด.ความจริงบัตรประจำตัวประชาชนของด.ไม่ได้สูญหายไป และผู้ที่แจ้งไม่ใช่ ด. ทำให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่และทำให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จไป เมื่อปรากฏว่าผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทางทะเบียนทั่วไปและบัตรประจำตัวประชาชนได้ตรวจสอบคำร้องขอและสอบสวนผู้ร้องขอแล้วจึงได้มีคำสั่งอนุมัติให้ทำบัตรใหม่ได้ แม้ว่าในวันเกิดเหตุจำเลยไปที่ที่ว่าการอำเภอที่เกิดเหตุ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนร่วมในการที่ผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการออกบัตรประจำตัวประชาชนออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ใหม่อันเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานดังกล่าว หรือมีส่วนร่วมในการแจ้งให้เจ้าพนักงานดังกล่าวจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่แต่อย่างใด และแม้ว่าในวันเกิดเหตุ จำเลยได้พาเพื่อนของจำเลยมาให้ จ.ลงชื่อรับรองว่าเป็นด.เพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชน และจ.ได้รับรองให้ก็ตามแต่จ.มีตำแหน่งเป็นพัฒนาการอำเภอที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นเพียงข้าราชการเท่านั้น จ.มิได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานบัตรประจำตัวประชาชนประจำที่ว่าอำเภอที่เกิดเหตุ ทั้งจ.มิได้สังกัดกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย จ.จึงมิใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมายการที่จำเลยพาเพื่อนของจำเลยมาให้ จ. รับรองให้การขอทำบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวจึงไม่ถือว่าจำเลยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานส่วนการที่ จ.จะรับรองบุคคลที่มาขอทำบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ออกบัตรประจำตัวประชาชนใหม่หรือไม่ เป็นเรื่อง ที่จ.จะต้องมีวิจารณญาณและความรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนายย่านอน ผกามาศได้ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายนำศักดิ์ สุวรรณรัตน์นางสาวเปรมวดี กตัญญูและนายวรชิต ยศธำรง เจ้าพนักงานปกครองซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานบัตรประจำตัวประชาชนประจำที่ว่าการอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ว่าบัตรประจำตัวประชาชนของนายดน คงยศ ได้สูญหายไป และแจ้งว่านายย่านอนเป็นบุคคลที่มีชื่อว่านายดน เพื่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชนในนามของนายดน ซึ่งจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จทำให้เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งได้จดข้อความอันเป็นเท็จตามที่จำเลยกับพวกแจ้งลงในคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่และเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายดน ผู้อื่นหรือประชาชนนอกจากนี้จำเลยกับพวกได้ร่วมกันใช้เอกสารดังกล่าว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 268, 83
จำเลยไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการเขต 8 ผู้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267ประกอบด้วยมาตรา 83 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 267 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 6 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องมีผู้ไปแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายนำศักดิ์ สุวรรณรัตน์นางสาวเปรมวดี กตัญญูและนายวรชิต ยศธำรง เจ้าพนักงานปกครองผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานบัตรประจำตัวประชาชนประจำที่ว่าการอำเภอกะเปอร์ว่า บัตรประจำตัวประชาชนของนายดน คงยศ สูญหายไป และผู้ที่มาร้องขอทำบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่สูญหายไป คือ นายดนความจริงบัตรประจำตัวประชาชนของนายดนไม่ได้สูญหายไป และผู้ที่แจ้งไม่ใช่นายดน ทำให้นายนำศักดิ์ นางสาวเปรมวดีและนายวรชิตซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่และทำให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ โจทก์มีนางสาวเปรมวดี และนายวรชิต เป็นพยานเบิกความว่าในวันเกิดเหตุ ขณะพยานทั้งสองปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ว่าการอำเภอกะเปอร์ มีชายคนหนึ่งมายื่นคำร้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่กรณีบัตรประจำตัวประชาชนฉบับเดิมสูญหายต่อพยานทั้งสองโดยอ้างว่าชื่อนายดน คงยศโดยมีนายจักรพงษ์ แก้วกระจ่าง พัฒนาการอำเภอกะเปอร์เป็นผู้รับรองผู้ร้องขอมีบัตร เมื่อนางสาวเปรมวดีรับคำร้องขอแล้วเสนอให้นายวรชิตเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนายวรชิตตรวจสอบคำร้องขอแล้วได้พิมพ์ลายนิ้วมือและถ่ายรูปผู้ที่ยื่นคำร้องขอเสร็จนำเสนอนายนำศักดิ์ สุวรรณรัตน์ ปลัดอำเภอกะเปอร์เพื่อขออนุมัติต่อมานายนำศักดิ์ ได้อนุมัติตามคำร้องขอ นอกจากนี้ได้ความตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายนำศักดิ์ ตามเอกสารหมาย จ.10 ว่า นายนำศักดิ์ปลัดอำเภอกะเปอร์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทางทะเบียนทั่วไปและบัตรประจำตัวประชาชนได้ตรวจสอบคำร้องขอและสอบสวนผู้ร้องขอแล้วจึงได้มีคำสั่งอนุมัติให้ทำบัตรใหม่ได้ ดังนี้ แม้จะได้ความจากนางสาวเปรมวดีและนายวรชิตว่า ในวันเกิดเหตุพยานทั้งสองเห็นจำเลยไปที่ที่ว่าการอำเภอกะเปอร์ก็ตามก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนร่วมในการที่ผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอให้นางสาวเปรมวดี นายวรชิตและนายนำศักดิ์เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการออกบัตรประจำตัวประชาชน ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ใหม่อันเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานดังกล่าวหรือมีส่วนร่วมในการแจ้งให้เจ้าพนักงานดังกล่าวจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่แต่อย่างใด และแม้จะได้ความจากคำเบิกความของนายจักรพงษ์ ว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยได้พาเพื่อนของจำเลยมาให้พยานลงชื่อรับรองว่าเป็นนายดน คงยศ เพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชนพยานจึงรับรองให้ก็ตาม เห็นว่านายจักรพงษ์มีตำแหน่งเป็นพัฒนาการอำเภอกะเปอร์ ซึ่งเป็นเพียงข้าราชการเท่านั้นมิได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานบัตรประจำตัวประชาชนประจำที่ว่าการอำเภอกะเปอร์ทั้งมิได้สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย นายจักรพงษ์จึงมิใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย ดังนั้น การที่จำเลยพาเพื่อนของจำเลยมาให้นายจักรพงษ์รับรองดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานแต่อย่างใด ส่วนการที่นายจักรพงษ์จะรับรองบุคคลที่มาขอทำบัตรประจำตัวประชาชนว่าเป็นนายดน คงยศ ต่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ออกบัตรประจำตัวประชาชนใหม่หรือไม่นั้น นายจักรพงษ์ย่อมจะต้องมีวิจารณญาณและความรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง