คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2835/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้าง ท. ให้รับเหมาก่อสร้างบ้านโดยจำเลยที่ 2 เป็นคนมาติดต่อรับเงินค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิที่จะบอกกล่าวให้ ท. ทำงานตรงไหนก็ได้ตามที่ต้องการ จำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งให้ ท. เปลี่ยนแปลงขนาดเสาเข็มที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ราคาแพงกล่าวเดิม และเป็นคนเอาเงินให้ ท. ไปซื้อ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตัวแทน ดังนั้น แม้ ท. จะเป็นผู้ดำเนินการตอกเสาเข็ม แต่จำเลยที่ 1 ก็มีส่วนผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ และการที่ ท. ไม่ได้เรียนวิชาช่างมาโดยตรง เพิ่งรับเหมางานก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 เป็นงานแรก ก็เกิดเหตุทำให้บ้านของโจทก์ทั้งสองเกิดรอยร้าว เสียหาย แสดงว่า ท. เป็นผู้ขาดความรู้ความสามารถ การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้ ท. เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างถือว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ในการเลือกหาผู้รับจ้างมาก่อสร้างด้วย ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา จำเลยที่ 1 ก็ให้การรับสารภาพ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง และแม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้ฟ้อง ท. ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 820,450 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 722,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสอง 2,500 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับอนุญาตก่อสร้างบ้านบนที่ดินของจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ติดกับบ้านของโจทก์ทั้งสองและได้จ้างนายทองอยู่ ซึ่งมีอาชีพรับเหมาก่อสร้างอาคารบ้านเรือนโดยไม่ได้เรียนวิชาช่างมาโดยเฉพาะ ให้เป็นผู้ก่อสร้างและจ้างจำเลยที่ 3 เป็นวิศวกรควบคุมงานในระหว่างก่อสร้างปรากฏว่าบ้านของโจทก์ทั้งสองเกิดรอยร้าวได้รับความเสียหายเนื่องจากมีการใช้เสาเข็มขนาดใหญ่กว่าที่ระบุไว้ในแบบแปลนที่ขออนุญาตและใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็มดังกล่าวเพื่อทำฐานรากอาคาร ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนและแรงดันของดิน ต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคารซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ คดีถึงที่สุดแล้ว ตามสำเนาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5525/2543 ของศาลอาญาธนบุรี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า นายทองอยู่ผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นผู้ดำเนินการตอกเสาเข็ม ดังนั้น นายทองอยู่จึงเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องนายทองอยู่ ทั้งจำเลยที่ 1 มิใช่นายจ้างของนายทองอยู่แต่เป็นเพียงผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับผู้รับจ้าง เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 บัญญัติว่า ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง ได้ความจากนายทองอยู่พยานจำเลยเบิกความว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างนายทองอยู่ให้รับเหมาก่อสร้างบ้านโดยจำเลยที่ 2 เป็นคนมาติดต่อ ไม่ได้ทำสัญญาว่าจ้าง จ่ายค่าจ้างเป็นงวด รับเงินค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิที่จะบอกกล่าวให้นายทองอยู่ทำงานตรงไหนอย่างไรก็ได้ตามที่ต้องการและจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งให้นายทองอยู่เปลี่ยนแปลงเสาเข็มที่ใช้ตอกมาเป็นขนาดใหญ่คือขนาด .22 คูณ .22 คูณ 18 เมตร ราคาเสาเข็มซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น แพงกว่าเดิม จำเลยที่ 2 เป็นคนเอาเงินให้นายทองอยู่ไปซื้อ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตัวแทน ดังนั้น แม้นายทองอยู่จะเป็นผู้ดำเนินการตอกเสาเข็ม แต่จำเลยที่ 1 ก็มีส่วนผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ นอกจากนี้การที่นายทองอยู่เคยทำงานให้บริษัทเกี่ยวกับฐานรากมาบ้างแต่เมื่อไม่ได้เรียนวิชาช่างมาโดยตรง ทั้งนายทองอยู่เพิ่งรับเหมางานก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 เป็นงานแรกก็เกิดเหตุทำให้บ้านของโจทก์ทั้งสองเกิดรอยร้าว เสียหาย แสดงว่านายทองอยู่เป็นผู้ขาดความรู้ความสามารถ การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้นายทองอยู่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอันเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ในการเลือกหาผู้รับจ้างมาก่อสร้างด้วย ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา จำเลยที่ 1 ก็ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง และแม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้ฟ้องนายทองอยู่ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีหรือไม่ เห็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมที่ฝ่ายแพ้คดีต้องรับผิดเป็นดุลพินิจของศาล แต่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ควรกำหนดให้คู่ความฝ่ายแพ้คดีต้องรับผิดเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่ศาลพิพากษาให้อีกฝ่ายชนะคดีจะเป็นธรรมยิ่งกว่าก็นับว่ามีเหตุผลดี จึงเห็นควรกำหนดเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดใหม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น และเนื่องจากคดีนี้ ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ทั้งสอง แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ยุติแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังนั้น แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องรับผิดให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 162, 245 (1), 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ทั้งสองเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 2,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share