คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2832-2833/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุตามคำฟ้องของจำเลยในสำนวนที่สองที่ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. คือ พินัยกรรมที่กำหนดให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกนั้นเป็นพินัยกรรมปลอม ซึ่งเป็นเหตุที่มีอยู่ก่อนที่จำเลยจะสืบสิทธิของ บ. ในการรับมรดกของ ป. ทั้งยังเป็นเหตุเดียวกันกับที่ บ. เคยคัดค้านคำร้องขอจัดการมรดกของโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8225/2534 เมื่อ บ. ถึงแก่ความตาย จำเลยยื่นคำร้องขอเข้ารับมรดกความแทน แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำร้องดังกล่าวเป็นการเฉพาะตัวของ บ. จึงไม่อนุญาตให้จำเลยเข้าเป็นคู่ความแทน เมื่อจำเลยอ้างเหตุเดียวกันขึ้นมาและมิได้เป็นเรื่องโต้แย้งสิทธิของจำเลยมาให้ศาลพิจารณาว่าเป็นเหตุให้ถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. ซ้ำอีก อันเป็นการขอให้วินิจฉัยในข้อที่ศาลได้เคยวินิจฉัยไว้แล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
เมื่อพินัยกรรมมีผลบังคับได้ตามกฎหมายทั้งสองฉบับ และปรากฏว่าพินัยกรรมขัดกันเฉพาะบางส่วน ป.พ.พ. มาตรา 1697 ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลังเฉพาะในส่วนที่มีข้อความขัดกันเท่านั้น

ย่อยาว

สำนวนแรก โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางป้อม ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 22731/2534 หมายเลขแดงที่ 2186/2535 ให้จำเลยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี เพื่อขอยกเลิกข้อความ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางป้อม ในสารบัญจดทะเบียนของโฉนดที่ดินเลขที่ 1271, 1272, 1274 ตำบลคลองหลวง (บางหวายใต้) อำเภอคลองหนึ่ง (ที่ถูกตำบลคลองหนึ่ง (บางหวายใต้) อำเภอคลองหลวง) จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) และโฉนดที่ดินเลขที่ 4890 ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะดำเนินการยื่นคำร้องดังกล่าว
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สอง โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 24 ธันวาคม 2531 เป็นเอกสารปลอมและเป็นโมฆะ คำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางป้อม ไม่มีผลบังคับใช้ เพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางป้อม ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8225/2534 ให้จำเลยไปยื่นคำขอยกเลิกคำคัดค้านของจำเลยที่คัดค้านการลงชื่อเป็นผู้จัดการมรดกที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1271, 1272, 1274 ตำบลคลองหนึ่ง (บางหวายใต้) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) และโฉนดเลขที่ 4890 ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี ของโจทก์ หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติเสร็จสิ้น
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยสำนวนที่สองว่า โจทก์ เรียกจำเลยสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์สำนวนที่สองว่า จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนชื่อจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางป้อม ตามคำสั่งของศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 22731/2534 หมายเลขแดงที่ 2186/2535 เสีย ให้จำเลยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี เพื่อถอนชื่อจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางป้อม ในสารบัญจดทะเบียนของโฉนดที่ดินเลขที่ 1271, 1272, 1274 ตำบลคลองหลวง (บางหวายใต้) อำเภอคลองหนึ่ง (ที่ถูก ตำบลคลองหนึ่ง(บางหวายใต้) อำเภอคลองหลวง) จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) และโฉนดที่ดินเลขที่ 4890 ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำนวนที่สอง ค่าฤชาธรรมเนียมในสำนวนที่สองให้เป็นพับทั้งสองศาล ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในสำนวนแรกให้จำเลยใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ 3,000 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า สำนวนที่สองจำเลยมีอำนาจฟ้องขอให้ถอดถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางป้อมหรือไม่ เห็นว่า เหตุตามคำฟ้องของจำเลยที่ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งถอดถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางป้อม คือ กรณีที่จำเลยอ้างว่าพินัยกรรมที่นางป้อมยกที่ดินให้แก่นายตุ๊และโจทก์และกำหนดให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกนั้นเป็นพินัยกรรมปลอม ทำให้นายบุญส่งและจำเลยได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นเหตุที่มีอยู่ก่อนที่จำเลยจะสืบสิทธิของนายบุญส่งที่จะรับมรดกของนางป้อม ทั้งยังเป็นเหตุเดียวกันกับที่นายบุญส่งเคยยื่นคำคัดค้านต่อศาลว่าที่นางป้อมทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่นายตุ๊และโจทก์นั้นเป็นพินัยกรรมปลอม โจทก์ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของนางป้อม ซึ่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8225/2534 ของศาลชั้นต้น เมื่อนายบุญส่งถึงแก่ความตาย จำเลยได้ยื่นคำร้องขอเข้ารับมรดกความแทนที่นายบุญส่ง แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำร้องดังกล่าวเป็นการเฉพาะตัวของนายบุญส่ง จำเลยไม่สามารถเข้าเป็นคู่ความแทนที่ได้ จึงไม่อนุญาตให้จำเลยเข้าเป็นคู่ความแทนที่นายบุญส่ง ซึ่งคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าววินิจฉัยว่าการขอถอดถอนผู้จัดการมรดกเป็นเรื่องเฉพาะตัวของนายบุญส่งไม่ตกทอดไปยังทายาทของนายบุญส่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยอ้างเหตุเดียวกันซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่จำเลยยังไม่ได้สืบสิทธิของนายบุญส่งในการรับมรดกของนางป้อม และเหตุตามคำฟ้องในสำนวนที่สองดังกล่าว ก็มิได้เป็นเรื่องที่โต้แย้งสิทธิของจำเลยมาเพื่อให้ศาลพิจารณาว่าเป็นเหตุให้ถอดถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางป้อมหรือไม่ซ้ำอีก ซึ่งศาลต้องวินิจฉัยก่อนว่า เหตุตามคำฟ้องเป็นสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่างๆ ของนายบุญส่งที่จะตกทอดไปยังจำเลยซึ่งเป็นทายาทของนายบุญส่งให้มีอำนาจยกขึ้นอ้างเพื่อถอดถอนผู้จัดการมรดกได้หรือไม่ อันเป็นการวินิจฉัยในข้อที่ศาลได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8225/2534 ของศาลชั้นต้นที่นายบุญส่งยื่นคำคัดค้านมิให้ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางป้อมนั้นเอง ดังนั้น ที่จำเลยยื่นคำฟ้องในสำนวนที่สองจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุตามคำฟ้องดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลถอดถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางป้อมได้ สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6162/2548 ระหว่างนางขุ้ยหั้ว กับพวก ผู้ร้อง นางสาวพอจิต ผู้คัดค้านที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกตามหนังสือพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 24 ธันวาคม 2531 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า นายใบ กับนายตุ๊ สมคบกันเพื่อจัดให้มีการทำพินัยกรรม โดยให้นายสุนทร หาข้อมูลทางทะเบียนราษฎร์และข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินของนางป้อมไว้ก่อนวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วจึงไปทำพินัยกรรมในวันดังกล่าวเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่นางป้อมเคยเล่าให้จำเลยฟังว่า นายใบซึ่งเคยเป็นมรรคทายกวัดเปรมประชากรจะขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่นางป้อม ทำให้เชื่อได้ว่า โจทก์นายใบและนายตุ๊ร่วมกันหลอกลวงนางป้อมให้พิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือพินัยกรรม โดยอ้างว่าเป็นหนังสือขอรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เนื่องจากนางป้อมไม่รู้หนังสือ เขียนหนังสือไม่ได้ หนังสือพินัยกรรมดังกล่าวเป็นการทำขึ้นเพราะสำคัญผิดหรือถูกกลฉ้อกลตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายสุนทรและนายใบเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 นางป้อมและนายใบได้ไปพบนายสุนทรที่สำนักงานทนายความสุนทร เพื่อขอทำพินัยกรรม นายสุนทรได้สอบถามนางป้อมแล้วได้ความว่านางป้อมอายุ 91 ปี มิได้ต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชน คงมีภาพถ่ายนางป้อมพร้อมหนังสือรับรองของนายหยิน กำนันตำบลสวนพริกไทย และหนังสือพินัยกรรมของนายอุดม สามีของนางป้อม โดยนางป้อมมีความประสงค์จะยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1271, 1272, 1274 ตำบลคลองหนึ่ง (บางหวายใต้) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) และที่ดินโฉนดเลขที่ 4890 ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี รวม 4 แปลง ให้แก่นายตุ๊และโจทก์คนละเท่าๆ กัน นายสุนทรจึงได้ทำพินัยกรรมตามความประสงค์ของนางป้อมตามสำเนาหนังสือพินัยกรรม โดยนางป้อมได้พิมพ์ลายนิ้วมือแล้วนายใบและนายสุนทรลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนางป้อม เห็นว่า การแสดงเจตนาที่จะเป็นพินัยกรรมได้ จะต้องมีลักษณะเป็นคำสั่ง ซึ่งคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งครั้งสุดท้าย กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของบุคคลนั้นและในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตาย เมื่อพิจารณาตามสำเนาหนังสือพินัยกรรมแล้ว มีข้อความที่ระบุว่านางป้อมประสงค์จะยกที่ดินให้แก่ผู้รับพินัยกรรมเมื่อนางป้อมตายไปแล้ว มีลักษณะเป็นการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตน จึงเป็นพินัยกรรม มีการลงวัน เดือน ปี ที่ทำผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน และพยานทั้งสองคนนั้นลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น จึงเป็นพินัยกรรมที่ทำถูกต้องตามแบบในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง ย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ที่จำเลยฎีกาและนำสืบว่า นางป้อมเคยเล่าให้จำเลยฟังว่า ในช่วงเวลาที่นางป้อมทำพินัยกรรมตามสำเนาหนังสือพินัยกรรมนั้น นายใบพานางป้อมไปทำเอกสารเกี่ยวกับการขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นางป้อมไม่รู้หนังสือ เขียนและอ่านไม่ได้ มีอาการหลงลืม นางป้อมไม่สามารถรู้ข้อความในเอกสารด้วยตนเองนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ และคาดคะเนเอาเอง ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักอันควรแก่การรับฟัง ส่วนพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไม่ปรากฏว่า นางป้อมได้ทำลายหรือขีดฆ่าต้นฉบับกับคู่ฉบับของพินัยกรรม อันจะมีผลให้เป็นการเพิกถอนพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1695 วรรคหนึ่ง พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองจึงยังมีผลบังคับอยู่เช่นกัน เมื่อพินัยกรรมของนางป้อมยังมีผลบังคับอยู่ทั้ง 2 ฉบับ ทั้งพินัยกรรมซึ่งทำในภายหลังมิได้มีข้อความตอนใดระบุให้เพิกถอนพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง เมื่อไม่ปรากฏว่านางป้อมได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่นและปรากฏว่าพินัยกรรมฉบับก่อนกับฉบับหลังขัดกัน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1697 ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลังเฉพาะในส่วนที่มีข้อความขัดกันเท่านั้น จึงถือว่าพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมเฉพาะข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกที่ดิน 4 แปลง ตามข้อ 1 และข้อ 2 ที่พินัยกรรมระบุให้ตกแก่นายตุ๊และโจทก์เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ

Share