แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์มีแต่ร้อยตำรวจโท พ.เบิกความว่าได้รับแจ้งว่ามีคนถูกรถยนต์ชนจึงไปที่เกิดเหตุ และได้ทำแผนที่เกิดเหตุและบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุไว้ นอกจากนี้โจทก์มีคำให้การชั้นสอบสวนของนาย ว.ซึ่งให้การเพียงว่าพบหญิงลักษณะถูกรถชนนอนหมดสติอยู่ในถนนจึงนำส่งโรงพยาบาล แต่หญิงดังกล่าวถึงแก่ความตายเสียก่อนโดยโจทก์ไม่มีพยานใดแสดงว่าในขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทสำหรับบันทึกการตกลงเรื่องค่าเสียหายที่มีข้อความว่าฝ่ายสามีผู้ตายเรียกค่าเสียหาย 500,000 บาท แต่ฝ่ายจำเลยเสนอให้เพียง50,000 บาท ก็ไม่ใช่ข้อชี้ไปถึงว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาท ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยและนาย ส.เป็นพยานเบิกความปฏิเสธว่าเหตุรถยนต์ชนผู้ตายไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลย ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ชนผู้ตายถึงแก่ความตาย แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีได้ก็ถือว่าให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เฉพาะในข้อหาความผิดตาม ป.อ.มาตรา 291 เท่านั้น เพราะโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในข้อหาความผิดนี้ส่วนข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43,78,157,160 รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานนี้โดยตรง จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย เป็นโจทก์ร่วมในข้อหาความผิดดังกล่าวไม่ได้และไม่มีสิทธิฎีกาในข้อหาความผิดนี้ ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมในข้อหาความผิดนี้ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังชนนางประภา เพียรชนะ ขณะกำลังเดินข้ามถนนอยู่ข้างหน้าอย่างแรงจนกระเด็นล้มลงบนถนนและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 32, 43, 78, 84, 157,160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายประทุม เพียรชนะ สามีนางประภา เพียรชนะ ผู้ตายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 และผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3 ปี ลงโทษฐานหลบหนีไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำคุก3 เดือน จำเลยนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม จำคุก2 ปี 2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 วรรคแรก จำคุก 1 เดือนและปรับ 2,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีบังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2532 เวลา 13 นาฬิกาเศษ จำเลยได้ขับรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน 7ย-8535 กรุงเทพมหานคร มาตามถนนสุขุมวิทจากทางแยกอโศกมุ่งหน้าไปทางแยกถนนนานา เมื่อถึงบริเวณซอยสุขุมวิท 19 ได้ชนนางประภา เพียรชนะ ซึ่งกำลังข้ามถนนสุขุมวิทเป็นเหตุให้นางประภา เพียรชนะ ถึงแก่ความตาย มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ชนนางประภาเพียรชนะ จนถึงแก่ความตายหรือไม่ โจทก์คงมีแต่ร้อยตำรวจโทสุพจน์เส้นขาว เบิกความว่า วันที่ 7 มกราคม 2532 เวลา 13.15 นาฬิกา ขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นร้อยเวรอยู่นั้นได้รับแจ้งว่ามีคนถูกรถยนต์ชนใกล้ปากซอยสุขุมวิท 19 จึงได้ไปที่เกิดเหตุ พบรอยเลือดและหัวฉีดน้ำล้างกระจกรถยนต์ตกอยู่ในช่องเดินรถที่ 3 นับจากทางซ้ายมือ ได้ทำแผนที่เกิดเหตุและบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุไว้ ต่อมามีพลเมืองดีโทรศัพท์มาแจ้งว่ารถยนต์ที่ชนผู้ตายเป็นรถยนต์ตู้สีเขียวหมายเลขทะเบียน 7ย-8535 กรุงเทพมหานคร จึงได้ตรวจทะเบียนรถยนต์ดังกล่าว ทราบว่าเป็นของนายนิพิธบิดาจำเลย สอบถามนายนิพิธแล้วได้ความว่าจำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุนอกจากพยานโจทก์ดังกล่าวแล้ว โจทก์คงมีคำให้การชั้นสอบสวนของนายวิชัย สุขอารมย์ ซึ่งให้การเพียงว่าพบหญิงลักษณะถูกรถชนนอนหมดสติอยู่ในถนนสุขุมวิท จึงได้นำส่งโรงพยาบาลตำรวจ ปรากฏว่าหญิงดังกล่าวถึงแก่ความตายในขณะนำส่งโรงพยาบาล โจทก์ไม่มีพยานใดแสดงว่าในขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทแต่อย่างใด สำหรับบันทึกการตกลงเรื่องค่าเสียหายที่มีข้อความว่า ฝ่ายสามีผู้ตายเรียกค่าเสียหาย 500,000 บาท แต่ฝ่ายจำเลยเสนอให้เพียง 50,000 บาทก็ไม่อาจชี้ไปถึงว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทอย่างไรหรือไม่ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเองและนายสนธยา วงษ์อารีย์ พยานจำเลยเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุจากซอยสุขุมวิท 49มุ่งหน้าไปทางซอยสุขุมวิท 19 โดยมีนายสนธยานั่งไปด้วย โดยก่อนเกิดเหตุรถยนต์ที่จำเลยขับแล่นอยู่ในช่องเดินรถที่ 4 มีรถบรรทุกแล่นอยู่ในช่องเดินรถที่ 5 ล้ำหน้ารถจำเลยเล็กน้อย ผู้ตายวิ่งตัดหน้ารถบรรทุกเข้ามาในช่องเดินรถของจำเลย จำเลยหักรถหลบเข้าช่องเดินรถที่ 3 แต่ไม่พ้นจึงชนผู้ตายล้มลง โดยจำเลยขับรถด้วยความเร็วประมาณ 40-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โจทก์ไม่มีพยานใดแสดงให้เห็นว่าจำเลยขับรถยนต์ชนผู้ตายโดยประมาท ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ชนนางประภาจนถึงแก่ความตาย
สำหรับฎีกาของโจทก์ร่วมที่ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคสอง นั้นเห็นว่าแม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ได้ ก็ถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เฉพาะในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เท่านั้น เพราะโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในข้อหาความผิดนี้ ส่วนข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160 รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานนี้โดยตรง จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย จึงเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาความผิดดังกล่าวไม่ได้และไม่มีสิทธิฎีกาในข้อหาความผิดดังกล่าวนี้ ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมในข้อหาความผิดนี้ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้…”
พิพากษายืน.