แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเวลากลางคืนแล้วขึ้นคร่อมตัวผู้เสียหายขณะนอนหลับอยู่ในห้อง เมื่อผู้เสียหายตื่นจำเลยใช้มีดปลายแหลมที่ติดตัวมาจอราวนมซ้ายผู้เสียหายห้ามมิให้ร้องมิฉะนั้นจะฆ่าขณะเดียวกันจำเลยได้ใช้มือลูบไล้ที่ขาผู้เสียหายผู้เสียหายขัดขืนและร้องขอความช่วยเหลือ จำเลยจึงใช้มีดแทงผู้เสียหายที่หน้าอกซ้าย 2 แผล ที่สะบักขวาด้านหลัง 3 แผลคาง 1 แผล ขาขวา 3 แผล และที่หัวเข่าซ้าย 3 แผล รวม 11 แผลด้วยมีดขนาดกว้าง 1 นิ้ว ยาวประมาณ 4 นิ้วเศษ ซึ่งมีขนาดโตพอสมควรที่จะทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้โดยเฉพาะแทงในที่สำคัญเช่นบริเวณหน้าอกซ้าย และสะบักหลัง การที่จำเลยแทงไม่ลึกน่าจะเกิดจากผู้เสียหายดิ้นรนและต่อสู้ จึงทำให้แทงผู้เสียหายไม่ถนัด หาใช่จำเลยมีเพียงเจตนาทำร้ายไม่ พฤติการณ์เช่นนี้ส่อแสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายแล้ว แต่จำเลยแทงผู้เสียหายเพราะเหตุผู้เสียหายไม่ยอมให้จำเลยข่มขืนกระทำชำเราทั้งยังร้องเรียกให้คนช่วยอีกด้วยทำให้จำเลยเกิดโทสะที่ไม่สามารถกระทำการได้ดังใจ มิใช่แทงทำร้ายเพื่อปกปิดการกระทำผิดจำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(7),80 คงผิดตามมาตรา 288,80
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364,365, 278, 288, 289, 80, 91 จำเลยให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365,278, 288, 80, 91 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 289(7), 80 จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา289(7), 80 หรือไม่ หรือมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายเท่านั้นพิเคราะห์แล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยได้บุกรุกเข้าไปในบ้านนางวิลเลี่ยมหรืออนงค์ เทพสาธรผู้เสียหายเวลากลางคืนแล้วขึ้นคร่อมตัวผู้เสียหายขณะนอนหลับอยู่ในห้อง เมื่อผู้เสียหายตื่น จำเลยก็ใช้มีดปลายแหลมที่นำติดตัวมาจ่อราวนมซ้ายผู้เสียหายห้ามมิให้ร้อง มิฉะนั้นจะฆ่าให้ตาย และขณะเดียวกันจำเลยได้ใช้มือลูบไล้ไปที่ขาผู้เสียหาย ผู้เสียหายขัดขืนร้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน จำเลยจึงใช้มีดแทงผู้เสียหายรวม 11 แผล คือบาดแผลที่หน้าอกซ้าย 2 แผล ที่สะบักขวาด้านหลัง 3 แผล คาง 1 แผล ขาขวา 3 แผล และที่หัวเข่าซ้าย 2 แผลปรากฏตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง โจทก์นำนายแพทย์อนันตพร ศุภวโรดม แพทย์โรงพยาบาลแพร่ซึ่งเป็นผู้ตรวจและรักษาบาดแผลผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าบาดแผลที่หน้าอกด้านซ้าย 2 แผล และที่สะบักหลังด้านขวา 2 แผล ไม่ต้องผ่าตัดเพราะเป็นบาดแผลตื้นไม่ลึก ซึ่งปรากฏตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องว่าลึก 2 เซนติเมตร เฉพาะบาดแผลที่หน้าอกด้านซ้ายนั้นพยานเบิกความว่าหากได้รับอันตรายจากของมีคมและแหลมลึกลงไปแล้วจะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ เพราะจะลึกตรงเข้าไปถูกหัวใจและปอด ปรากฏว่าผู้เสียหายต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล7 วัน จึงกลับบ้านได้ส่วนปลอกมีดของกลางมีความยาว 5 นิ้วครึ่งจำเลยรับว่าตัวมีดกว้าง 1 นิ้ว ยาวประมาณ 4 นิ้วเศษ เป็นมีด 2 คมปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 จึงมีมีดที่สามารถแทงผู้เสียหายให้ทะลุถึงหัวใจและปอดได้ เห็นว่า จำเลยแทงผู้เสียหายถึง 11 แผลด้วยมีดที่มีขนาดโตพอสมควรที่จะทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้โดยเฉพาะแทงในที่สำคัญเช่นบริเวณหน้าอกซ้าย 2 แผล และสะบักหลังด้านขวาถึง 3 แผล พฤติการณ์เช่นนี้ส่อแสดงว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายการที่แทงไม่ลึกน่าจะเกิดจากผู้เสียหายดิ้นรนและต่อสู้ตามที่ผู้เสียหายเบิกความว่า ใช้เท้าถีบและใช้มือตีจำเลย จึงทำให้แทงผู้เสียหายไม่ถนัดและไม่ลึกจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หาใช่จำเลยมีเจตนาเพียงทำร้ายดังฎีกาจำเลยไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยแทงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า ข้อที่ต้องวินิจฉัยต่อไปก็คือ จำเลยเจตนาฆ่าผู้เสียหายเพื่อปกปิดการกระทำผิดฐานบุกรุกและอนาจารของจำเลยดังฟ้องหรือไม่ ปัญหาข้อนี้เห็นว่าจำเลยแทงผู้เสียหายเพราะเหตุผู้เสียหายไม่ยอมให้จำเลยข่มขืนกระทำชำเราทั้งยังร้องเรียกให้คนช่วยอีกด้วย ทำให้จำเลยเกิดโทสะที่ไม่สามารถกระทำการได้ดังใจจำเลยมากกว่า มิใช่แทงทำร้ายเพื่อปกปิดการกระทำผิดของจำเลยแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(7), 80 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น