แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืน พกพาอาวุธปืนและพยายามฆ่า และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานบุกรุก จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอถอนอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์อนุญาตจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 คดีความผิดสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยความผิดทุกข้อหาความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2รวมกันมาเป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288, 80, 83, 364, 365, 371, 91, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน มาตรา7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และขอให้ริบมีดและเม็ดกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 83, 364, 365(1)(2)(3), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก, 72 วรรคแรก, 72 ทวิ วรรคสองความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและบุกรุกเป็นการกระทำต่อเนื่องไปในคราวเดียวกันโดยจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย จึงเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นบทหนัก ลงโทษจำคุก 10 ปี กระทงหนึ่ง ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 2 ปี กระทงหนึ่งและฐานพาอาวุธปืน จำคุก 1 ปี อีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 13 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา364, 365(1)(2)(3) จำคุก 1 ปี มีดและเม็ดกระสุนปืนของกลางให้ริบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง คืนอาวุธมีดให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนเม็ดกระสุนปืนของกลางให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ต่อมาเฉพาะจำเลยที่ 1 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ถอนอุทธรณ์จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 คดีความผิดฐานมีอาวุธปืน พกพาอาวุธปืน พยายามฆ่าผู้อื่นสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติ คงมีปัญหาเฉพาะความผิดฐานร่วมกันบุกรุกโดยมีอาวุธสำหรับจำเลยที่ 2 แต่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยความผิดทุกข้อหาความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมกันมา เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณา ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีฝ่ายใดได้ยกขึ้นว่ากล่าว แต่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195,208(2) และ 225 สมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี