แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อไม่ปรากฏว่างานของครูพิเศษซึ่งมีจำเลยจ้างมาทำการสอน มีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาลอย่างไร จึงถือได้ว่าจำเลยจ้างโจทก์ไว้เป็นการประจำโจทก์จึงเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่จำเลยจ้างโจทก์เป็นครูพิเศษเป็นต้นมา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2523 และวันที่ 11 พฤศจิกายน 2523 จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่เป็นครูในโรงเรียนของจำเลยโจทก์ที่ 1 ได้รับค่าจ้างครั้งสุดท้ายเดือนละ 2,345 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับค่าจ้างครั้งสุดท้ายเดือนละ 2,400 บาท เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2525 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีความผิดและจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ นอกจากนั้นจำเลยค้างชำระค่าจ้างประเดือนเมษายน 2525 แก่โจทก์ที่ 1 2,345 และจำเลยได้หักเงินเดือนของโจทก์ที่ 2 ไว้เป็นเงินสะสมตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2524 ถึงเดือนเมษายน 2525 เป็นเงิน 629.65 บาท ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างชำระแก่โจทก์ที่ 1 2,345 บาท จ่ายเงินสะสมแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 629.65 บาท และจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 7,035 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 7,200 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2523 โดยจ้างเป็นครูสอนรายชั่วโมงจ่ายค่าจ้างเหมาจ่ายเป็นรายเดือน มิใช่ลูกจ้างประจำ ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2524 โจทก์ที่ 1 ได้รับค่าจ้างครั้งสุดท้ายเดือนละ 2,345 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับค่าจ้างครั้งสุดท้ายเดือนละ 2,205 บาท กับค่าครองชีพเดือนละ200 บาท ในเดือนเมษายน 2525 โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ทำงานจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างของเดือนดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 1 จำเลยได้หักเงินเดือนของโจทก์ที่ 2 ไว้เป็นเงินสะสมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2524 ถึงเดือนเมษายน 2525 รวมเป็นเงิน 579.50 บาท นำฝากไว้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาวิสุทธิกษัตริย์ โจทก์ที่ 2 จะต้องไปเบิกเอาเองโดยอนุมัติจากศึกษาธิการจังหวัดตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยไม่มีสิทธิจะไปเบิกมาจ่ายให้ได้ จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ชั้นพิจารณาโจทก์ที่ 2 ขอถอนฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับเงินสะสมศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2523 แม้ในเดือนเมษายน 2525 โรงเรียนปิดเทอม โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ทำการสอน จำเลยก็ต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 1 จำเลยบรรจุโจทก์ที่ 2 เป็นครูประจำเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2524 แต่โจทก์ที่ 2 เข้าทำงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2523 ถือว่าโจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่แรกเข้าทำงานจำเลยแจ้งแก่โจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2525 ว่าไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองทำหน้าที่เป็นครูโรงเรียนของจำเลยต่อไป เป็นการเลิกจ้าง จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 2,345 บาท และจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จำนวน 7,035 บาท และ 7,200 บาทตามลำดับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลแรงงานกลางสั่งรับเฉพาะอุทธรณ์ข้อ 3.2 ซึ่งเป็นปัญหาว่าโจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำจำเลยตั้งแต่เมื่อใด
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยจ้างโจทก์ที่ 2 เป็นครูพิเศษทำการสอนในโรงเรียนพาณิชยการสมุทรสงครามของจำเลยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2523 วันที่ 1 กรกฎาคม 2524 จำเลยบรรจุโจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2525 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นครูประจำหรือลูกจ้างประจำตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2524 มีระยะเวลาทำงานไม่ครบ 1 ปี เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2525 นิยามคำว่า “ลูกจ้างประจำ” ไว้ “หมายความว่า ลูกจ้างซึ่งนายจ้างตกลงจ้างไว้เป็นการประจำ” และนิยามคำว่า “ลูกจ้างชั่วคราว” ไว้ว่า “หมายความว่าลูกจ้างซึ่งนายจ้างตกลงจ้างไว้ไม่เป็นการประจำเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาล” งานทำการสอนเป็นงานประจำของโรงเรียน แม้ชั้นแรกจำเลยจ้างโจทก์ที่ 2 เป็นครูพิเศษ ต่อมาจึงบรรจุเป็นครูประจำ แต่โจทก์ที่ 2 ได้ทำการสอนในโรงเรียนของจำเลยตั้งแต่เป็นครูพิเศษตลอดมา ไม่ปรากฏว่างานทำการสอนในฐานะครูพิเศษมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาลอย่างไร ถือได้ว่าจำเลยจ้างโจทก์ที่ 2 ไว้เป็นการประจำ โจทก์ที่ 2 จึงเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่เป็นครูพิเศษเป็นต้นมา
พิพากษายืน