แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าคำว่า ‘COLGATE”GARDOL’ และ’GARDENT’ของโจทก์ กับเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘COLDENT’ ของจำเลยต่างขอจดทะเบียนในประเภทเครื่องหมายคำ โดยใช้ตัวอักษรโรมันธรรมดา การใช้อักษรตลอดจนการออกสำเนียงในการอ่านคล้ายคลึงกัน คำในพยางค์หน้าของเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีคำว่า’COL’ เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘COLGATE’ ของโจทก์ และคำในพยางค์ท้ายมีคำว่า ‘DENT’ เช่นเดียวกับคำในพยางค์ท้ายของเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘GARDENT’ ของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยส่อให้เห็นถึงการจงใจเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้จะเป็นการจดทะเบียนในประเภทเครื่องหมายคำสำหรับสินค้าจำพวก 48 ทั้งจำพวก ก็อาจทำให้ผู้ซื้อสินค้าเกิดความสับสนหรือหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคือเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ซื้อที่ไม่ทันสังเกต หรือเป็นผู้ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษหรือรู้เพียงเล็กน้อย จึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนตามนัยแห่งมาตรา 16พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2504 มาตรา 4
จำเลยผลิตและจำหน่ายยาสีฟันซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องสลากพื้นสีแดง ประกอบอักษรโรมันขนาดใหญ่สีขาวคำว่า ‘COLDENT’และอักษรโรมันขนาดย่อมคำว่า ‘ANTI-ENZYMETOOTHPASTEซึ่งมีรูปลักษณะของกล่อง การวางตัวอักษร ลักษณะของตัวอักษร สีของกล่อง และสีตัวอักษร คล้ายกับสลากกล่องเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ตามหนังสือคู่มือรับจดทะเบียน การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 421
โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายไว้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายคือทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์เสื่อมความนิยม โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าลงไปบ้างเป็นเงิน 20,000 บาท เป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว หาเคลือบคลุมไม่
จำเลยผลิตยาสีฟัน ‘COLDENT’ ออกจำหน่ายตลอดมาจนปัจจุบันแม้จำเลยจะเริ่มผลิตมาตั้ง 10 ปีแล้ว การละเมิดสิทธิของโจทก์ที่จำเลยกระทำก็คงมีอยู่ตลอดเรื่อยไปทั้งโจทก์ยังได้นำคดีมาฟ้องจำเลยภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับทราบคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า คดีของโจทก์จึงหาขาดอายุความไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตสินค้ายาสีฟันออกจำหน่าย ซึ่งมีฉลากกล่องสีแดงประกอบอักษรโรมันสีขาวดำว่า “COLGATE” และ “DENTAL CREAM WITH GARDOL” ซึ่งโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “GARDOL” และ”GARDENT” เดิมห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเฮี่ยงฮวด ซึ่งมีจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “COLDENT”ในสินค้าจำพวกเดียวกับโจทก์ มีลักษณะเหมือนคล้ายเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อมาห้างดังกล่าวจดทะเบียนเลิกห้าง จำเลยเป็นผู้รับผิดชอบในหนี้สินรวมทั้งการใช้เครื่องหมายการค้า “COLDENT” ด้วยห้างดังกล่าวและจำเลยได้ผลิตยาสีฟันออกจำหน่ายบรรจุในกล่องที่มีรูปสลากพื้นสีแดงประกอบอักษรโรมันคำว่า “COLDENT” และ “ANTI-ENZYME TOOTH PASTE” เหมือนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เลียนแบบโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายขอให้พิพากษาว่าจำเลยไม่มีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 35808 ให้จำเลยถอนคำขอดังกล่าวห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้ารายพิพาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยไม่ได้เลียนแบบโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนคล้ายกับของโจทก์ คดีโจทก์ขาดอายุความ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยไม่มีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “COLDENT” ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 35808 ห้ามจำเลยนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้า ห้ามจำเลยผลิตและจำหน่ายยาสีฟันที่มีเครื่องหมายการค้าตามตัวอย่างรูปสลาก “COLDENT” ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นให้ยกคำขอของโจทก์เฉพาะข้อที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยไม่มีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “COLDENT” ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 35808 ห้ามมิให้จำเลยนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยอีกต่อไปนั้นเสีย
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้พิเคราะห์เครื่องหมายการค้าคำว่า “COLGATE” “GARDOL” และ “GARDENT” ของโจทก์ กับเครื่องหมายการค้าคำว่า “COLDENT” ของจำเลยแล้วปรากฏว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างขอจดทะเบียนในประเภทเครื่องหมายคำโดยใช้ตัวอักษรโรมันธรรมดา การใช้อักษรโรมันเครื่องหมายการค้าคำว่า “COLDENT” ของจำเลย และเครื่องหมายการค้าคำว่า “COLGATE” “GARDOL” และ “GARDENT” ของโจทก์ ตลอดจนการออกสำเนียงในการอ่านเห็นได้ว่าคล้ายคลึงกัน คำในพยางค์หน้าของเครื่องหมายการค้าของจำเลยก็มีคำว่า “COL” เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “GOLGATE” ของโจทก์ และคำในพยางค์ท้ายในเครื่องหมายการค้าของจำเลยก็มีคำว่า “DENT” เช่นเดียวกับคำในพยางค์ท้ายในเครื่องหมายการค้าคำว่า “GARDENT” ของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวส่อให้เห็นถึงการจงใจเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้จะเป็นเพียงการจดทะเบียนในประเภทเครื่องหมายคำ สำหรับสินค้าจำพวก 48 ประเภทเครื่องหอมทั้งจำพวกก็ตาม ก็อาจทำให้ผู้ซื้อสินค้าเกิดความสับสนหรือหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคือเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ซื้อที่ไม่ทันสังเกต หรือเป็นผู้ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษหรือรู้เพียงเล็กน้อยจึงนับว่าเป็นการลวงสาธารณชนตามนัยแห่งมาตรา 16 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2504 มาตรา 4 เพราะฉะนั้นด้วยเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “COLDENT” ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 35808 ต่อนายทะเบียน
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดสิทธิเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยได้ผลิตและจำหน่ายยาสีฟันซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องสลากพื้นสีแดงประกอบอักษรโรมันขนาดใหญ่สีขาวคำว่า “COLDENT” และอักษรโรมันขนาดย่อมคำว่า “ANTIENZYME TOOTH PASTE” ซึ่งมีรูปลักษณะของกล่อง การวางตัวอักษรลักษณะของตัวอักษรสีของกล่อง และสีตัวอักษร คล้ายกับสลากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ตามหนังสือคู่มือรับจดทะเบียนเลขที่ 18284 การกระทำของจำเลยเช่นนั้นจึงเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 421 จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ในเรื่องค่าเสียหายเคลือบคลุม ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย คือ ทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์เสื่อมความนิยมโจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าลงไปบ้างเป็นเงิน 20,000 บาท ฟ้องจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จำเลยจึงย่อมเข้าใจดีว่าความเสียหายของโจทก์เกิดจากอะไร เป็นเงินเท่าใดฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ทุกประการ
ส่วนจำนวนเงินค่าเสียหาย ศาลฎีกาเห็นด้วยกับศาลล่างที่กำหนดให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ 20,000 บาท
ปัญหาข้อสุดท้ายที่ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตลอดมาจนบัดนี้ และตัวจำเลยก็ยังเบิกความว่าเวลานี้จำเลยก็ยังผลิตยาสีฟัน “COLDENT” ออกจำหน่ายอยู่ เมื่อเป็นดังนี้ แม้จำเลยจะได้เริ่มผลิตยาสีฟันนี้มาตั้ง 10 ปีแล้วก็ตาม การละเมิดสิทธิของโจทก์ที่จำเลยได้กระทำก็คงมีอยู่ตลอดเรื่อยไป นอกจากนี้การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลย โจทก์ก็ได้ฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้ทราบคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ดังนั้น คดีของโจทก์จึงหาขาดอายุความไม่
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “COLDENT” ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 35808และห้ามจำเลยนำไปเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยต่อไป นอกจากนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์